วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มหันตภัยจากโต๊ะทำงาน (โดยเฉพาะคนทำงานกับคอมพิวเตอร์)

หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ว่า แค่กดแป้นอักขระ หรือการคลิกเมาส์คอมพิวเตอร์ จะก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นทำลายระบบประสาทที่มือ แขน ไหล่ หรือคอ ได้ แต่หากว่าที่ผ่านมาคุณทำลักษณะนี้ซ้ำๆ วันหนึ่งจ่ออยู่หน้าจอนานกว่า 4 ชั่วโมง พิมพ์งานเป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกันโดยไม่พักแม้แต่สายตา หรือยืดเส้นยืดสาย แน่นอนว่าย่อมจะเสี่ยงมากกว่าคนอื่น และในทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า คอมพิวเตอร์ซินโดรม (Computer Syndrome) หรือ CS

**ภัยซ่อนรูปจากคอมพิวเตอร์

นพ.ศักดา อาจองค์ แพทย์ประจำเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แจกแจงรายละเอียดโรคที่สามารถเกิดจากคอมพิวเตอร์ ว่า สามารถแบ่งออกเป็นโรคที่เกิดและเห็นปรากฏได้ทางร่างกาย โรคทางจิตใจ และโรคติดเชื้อ สำหรับโรคทางจิตใจนั้นมักได้ยินข่าวบ่อยครั้ง ว่า มีผู้ป่วยติดอินเทอร์เน็ต ติดเกมออนไลน์ ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์คล้ายโรคซึมเศร้า และมีปัญหาทางสภาวะจิตใจและขาดทักษะการเข้าสังคม ส่วนโรคติดเชื้อนั้นมักเกิดในสถานที่ทำงาน ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกัน และมักได้รับเชื้อรา หรือแบคทีเรียจากแป้นพิมพ์ อีกทั้งฝุ่นละอองจากเครื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ใช้เป็นภูมิแพ้ได้ง่ายโดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้

“สำหรับโรคทางกายที่เห็นได้ชัดและเป็นกันมาก คือ อาการปวดตา เมื่อยตา ตาแห้ง มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือที่เคยได้ยินว่า โรค CVS (Computer Vision Syndrome) และแรงกระตุ้นจากแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีกลุ่มอาการไม่จำเพาะ อาทิ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือนอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการอยู่หน้าจอเป็นเวลานานๆ โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว”

นพ.ศักดา เปิดเผยอีกว่า มีโรคอีกกลุ่มใหญ่ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ และไม่คิดว่าเป็นอันตรายหากปล่อยให้เรื้อรัง คือ กลุ่ม Computer Syndrome หรือ CS ที่มีผลกระทบกับกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการวางท่าทางการทำงานไม่ถูกต้อง เช่น ท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนโดยใช้หัวไหล่และต้นคอรับน้ำหนัก นอกจากจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณคอและหลังแล้ว สามารถส่งให้สายตาเอียง หรือเส้นยึดกระดูกที่คอได้ ซึ่งมีกรณีศึกษาที่กลายเป็นข่าวครึกโครมที่ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน 18 ชั่วโมง จนทำให้ลิ่มเลือดไปอุดตันที่ขาและกระจายไปที่ปอด แต่ในประเทศไทยยังไม่พบกรณีผู้ป่วยเช่นนี้

การอยู่หน้าจอนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยนท่าทางเลย หรืออยู่ในลักษณะที่ผิดท่านั้น มีผลเสียกับกายศาสตร์มาก แม้ว่าประเทศไทยยังระบุไม่ได้ว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการจากคอมพิวเตอร์ในกลุ่มกล้ามเนื้อมากจำนวนเท่าใด แต่นั่นเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าหากปล่อยไว้นานจะมีผลเสียถึงขั้นต้องผ่าตัด สถิติผู้ป่วยจึงยังไม่มีใครรวบรวม” แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าว

นพ.ศักดา อธิบายเพิ่มเติมว่า ยังมีรายงานสนับสนุนหลายการศึกษาที่ระบุว่า การใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Carpal Tunnel Syndrome หรือ CTS โดยเชื่อว่าเป็นการเกิดจากกลไก repetitive stress injuries (RSI) อธิบายได้ว่า เป็นการบาดเจ็บซ้ำของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อมือและแขน ซึ่งถือว่าเป็นภัยที่มองไม่เห็น แพทย์หลายคนระบุว่าอาการนี้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ CS

โดย Dr. Emil Pascarelli ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาอาการอันเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์มานานกว่า 23 ปี อธิบายไว้ในหนังสือที่เขาเขียนเรื่อง “Repetitive strain injury : Computer User’s Guide” ว่า ในทางการแพทย์ RSI ถือเป็นอาการบาดเจ็บ หรือกล้ามเนื้อตึงเครียดซ้ำๆ เกิดการสะสมจากการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เป็นผลกระทบหนึ่งที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์

ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยเป็น RSI กว่า 2 ล้านคน จนทำให้มีเว็บไซต์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคนี้เกิดขึ้นมากมาย สาเหตุของการเกิดอาการนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวแขนหรือมือในลักษณะเดียวกันซ้ำๆ นั่งทำงานไม่ถูกท่าทาง และใช้กล้ามเนื้อมือในลักษณะขนานกับพื้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันนาน จนทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย โดยอาการจะมีตั้งแต่เคลื่อนไหวมือ นิ้วมือไม่สะดวก รู้สึกปวดที่ข้อมือซ้ำๆ และปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขนระหว่างข้อศอกกับข้อมือ ในบางรายอาจจะปวดที่คอ ไหล่ และหลัง

Dr.Pascarelli ระบุอีกว่า คนที่เสี่ยงต่ออาการ RSI มากที่สุดคือคนที่ใช้คอมพิวเตอร์และวางท่าทางไม่ถูกต้อง ไม่หยุดพัก ไม่ออกกำลังระหว่างเบรก มีไลฟ์สไตล์ที่ได้เคลื่อนไหวน้อย ไม่เพียงเท่านี้การพักผ่อนไม่เพียงพอ คนที่มีโรคประจำตัว และความเครียดสะสม ก็เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อนั้นตึงเครียดได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม นพ.ศักดา ชี้แจงว่า เมื่อไม่นานมานี้ มี Special Health Report from Harvard Medical School ได้ปฏิเสธกลไกนี้โดยให้คำอธิบายว่าเป็นความเชื่อที่ผิดว่าการบาดเจ็บซ้ำของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อมือในขณะใช้คอมพิวเตอร์ (RSI) นั้น ไม่เหมือนกับการอธิบายกลไกการเกิดโรคอื่น เช่น การบาดเจ็บของเอ็นและกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย กระนั้นก็ยังไม่มีคำตอบใดที่ให้คำตอบที่แน่ชัดว่า RSI เกิดจากสาเหตุใด ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า การใช้งานคอมพิวเตอร์นานและต่อเนื่องประกอบกับการผิดหลักกายวิทยานั้นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ และยังถือว่าเป็นอาการในกลุ่ม CS ซึ่งก็ยังต้องระวังเช่นเดียวกัน

**สัญญาณเตือนที่ต้องรีบ

Deborah Quilter นักกายภาพบำบัด และครูสอนโยคะ ผู้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่มีอาการ RSI ผ่านเว็บไซต์ http://www.RSIhelp.com ระบุว่าสัญญาณเตือนว่าคุณอาจกำลังเข้าใกล้อาการ RIS นั้นมีหลายข้อ อาทิ รู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า มือเย็น ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อมือ นิ้วมือลดลงคือกำมือหรือแบมือได้ลำบากกว่าปกติ ใช้ข้อมือยากขึ้น เช่น เปิดหน้าหนังสือหรือนิตยสาร ยกถ้วยกาแฟ หรือแม้กระทั่งหักเลี้ยงพวงมาลัยรถยนต์ก็ทำได้ลำบาก เหล่านี้ล้วนเป็นอาการเริ่มต้นที่หลายคนอาจมองข้ามไป

ด้าน นพ.ศักดา ให้ภาพรวมและวิธีสังเกตอาการของโรคในกลุ่ม CS ว่า ก่อนอื่นต้องสังเกตตัวเองก่อนว่าทำงานเกี่ยวกับอะไร เล่นกีฬาหรือไม่ ทบทวนว่าหลังทำงานมีอาการเมื่อยล้าบริเวณคอ หัวไหล่ ข้อมือ แขนหรือหลังบ้างหรือไม่ หากมีอาการทุกวันประกอบกับทำงานที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่แล้วให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นอาการของ คอมพิวเตอร์ซินโดรม

**หนทางง่ายๆ หลีกไกล RSI&CS

นพ.ศักดา แนะนำว่า เมื่อทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ก็ต้องหาเวลาพักทั้งสายตาและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาจจะทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง หรือหากติดลมให้กะพริบตาบ่อยๆ สำหรับคนที่ปวดตา ส่วนผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้ออันอาจเนื่องมาจากใช้ท่าทางผิดนั้น มีข้อแนะนำดังนี้

ท่านั่งที่ถูกต้อง เวลาพิมพ์คอมพิวเตอร์ต้องให้ข้อศอกอยู่ระดับเดียวกับคีย์บอร์ด เลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิง ไม่นอนพิมพ์ และระวังอย่าให้เท้าลอยเหนือพื้นเด็ดขาด เพื่อป้องกันสายตาด้วยให้หน้าจออยู่ห่างจากตัวประมาณ 2 ฟุต ไม่วางข้อมือที่จับเมาส์ในลักษณะโค้ง

- ท่ากายบริหาร นอกจากนั่งกำมือ แบมือ หรือนวดไหล่แล้วยังมีท่ากายบริหารที่จะช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหน้าอกได้ด้วย

ท่าเหยียดแขนแนบผนัง ยื่นแขนขวาติดกำแพงให้แขนขนานกับพื้นโดยที่ฝ่ามือยังเกาะกำแพงไว้ วางหน้าอกให้ห่างจากกำแพงแต่อยู่ในระนาบเดียวกับแขน จากนั้นโน้มตัวไปด้านข้างโดยที่มือยังเกาะผนังแน่น อาจจะรู้สึกเจ็บแปลบแต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทำค้างไว้ 30-60 วินาที และทำซ้ำข้างซ้ายอีกครั้ง

เกาะประตู เป็นการคลายกล้ามเนื้อไหล่ เริ่มจากใช้ข้อศอกทั้งสองข้างตั้งเป็นมุมฉาก วางแขนให้ติดกับขอบประตูหรือหน้าต่าง จากนั้นโน้มตัวไปข้างหน้าโดยให้หน้าอกอื่นออกไป ทำค้างไว้ 30-60 วินาที และทำซ้ำอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการออกกำลังที่ช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้ออื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการเต้นแอโรบิก เล่นโยคะ ซึ่งจะช่วยเรื่องมวลกระดูกกรณีที่ได้รับบาดเจ็บได้ด้วย

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากผู้มีอาการทราบได้เร็วว่าตนเองมีอาการคอมพิวเตอร์ซินโดรมให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและทำกายภาพบำบัด การยืดหยุ่นร่างกายจะช่วยให้อาการหายไวมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาการสามารถเกิดซ้ำได้หากไม่ยอมปรับเปลี่ยนสไตล์ ซึ่งปล่อยไว้ระยะยาวภัยเงียบนี้อาจจะนำเราไปสู่เตียงผ่าตัดเอ็นกระดูกได้

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=chicstory&date=18-04-2009&group=7&gblog=20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น