วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์

เครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์

เครื่องราชูปโภค กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เหมือนกันไหม มีอะไรบ้าง-
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามพจนานุกรมว่า คือเครื่องหมายความเป็นพระราชาธิบดี ประกอบด้วย ๑. พระมหาพิชัยมงกุฎ ๒. พระแสงขรรค์ ๓. ธารพระกร ๔. พัดวาลวิชนี และพระแส้ ๕. ฉลองพระบาทเชิงงอน รวมเรียกว่า ‘เบญจราชกกุธภัณฑ์’
๑. พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร เพชรเม็ดใหญ่ที่ประดับอยู่บนยอดมีชื่อว่า ‘พระมหาวิเชียรมณี’ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้พระราชสมบัติไปเที่ยวหาซื้อได้มาจากเมืองกัลกัตตา ประดับยอดตั้งแต่ในรัชกาลของพระองค์เป็นต้นมา
๒. พระแสงขรรค์ไชยศรี พระแสงขรรค์องค์นี้ มีประวัติพิสดาร ตัวพระขรรค์เป็นของเก่าฝีมือช่างครั้งเดียวกันกับ เมื่อสร้างพระนครวัต ตกจมอยู่ในทะเลสาบนครเสียมราฐตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบกัน จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๓๒๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกได้ ๒ ปี ชาวประมงทอดแหได้พระขรรค์องค์นี้ขึ้นมา เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ต้นสกุลอภัยวงศ์ ซึ่งโปรดฯให้ครองเมืองเสียมราฐพระตะบอง ขณะนั้นให้นำมาทูลเกล้าฯถวาย ในวันที่พระแสงขรรค์องค์นี้มาถึง เกิดอสนีบาตในพระนครถึง ๗ แห่ง และแห่งหนึ่งที่ผ่าลงมาคือตรงประตูพระบรมมหาราชวังที่พระขรรค์ผ่านเข้าไป เมื่อทรงพระราชทานนามพระขรรค์ว่า พระแสงขรรค์ไชยศรี จึงโปรดพระราชทานชื่อประตู พระบรมมหาราชวังชั้นนอกว่า ‘วิเศษไชยศรี’ และประตูชั้นในตรงกับประตูวิเศษไชยศรีว่า ‘พิมานไชยศรี’ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้ทำด้ามและฝักด้วยทองลงยาประดับมณี แล้วโปรดฯให้ใช้เป็นราชกกุธภัณฑ์
๓. ธารพระกร ข้างในเป็นไม้ชัยพฤกษ์ ข้างนอกหุ้มทองตลอด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้สร้างขึ้นเป็นราชกกุธภัณฑ์
พานพระขันหมาก
๔. พัดวาลวิชนีและพระแส้ พัดทำด้วยใบตาลปิดทอง ด้ามและเครื่องประกอบเป็นทองลงยา พระแส้นั้นทำด้วยขนจามรี ด้ามเป็นแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้สร้างขึ้นเป็นราชกกุธภัณฑ์
๕. ฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองลงยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯให้สร้างเป็นราชกกุธภัณฑ์
เครื่องราชูปโภค หมายถึงเครื่องใช้สอยของพระเจ้าแผ่นดิน บัญญัติกันมาว่ามี ๔ อย่าง คือ
๑. พานพระขันหมาก คือพานหมากนั่นเอง ในสมัยโบราณ พระเจ้าแผ่นดินเสวยพระสลา (หมาก) เครื่องราชูปโภคประจำพระองค์จึงเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องเสวยหมาก ทั้ง ๔ อย่าง คือ พานพระขันหมาก และ
๒. พระมณฑปรัตนครัณฑ์ หม้อน้ำฝายอดพร้อมด้วยจอก สำหรับบ้วนพระโอษฐ์
๓. พระสุพรรณศรี (บัวแฉก) กระโถนเล็ก
๔. พระสุพรรณราช กระโถนใหญ่


คงมีผู้สงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีทั้งกระโถนเล็ก และกระโถนใหญ่ ในสมัยก่อนการรับประทานหมากนั้น ต้องบ้วนน้ำหมากบ่อยๆ แม้บางทีจะกลืนลงไปบ้างก็ตาม หากก้มลงบ้วน ก้มบ่อยๆไม่สะดวก จึงต้องยกขึ้นให้ใกล้ๆปาก ดังนั้น คนโบราณกินหมากจึงมักมีกระโถนเล็ก (หรือหากเป็นชาวบ้านก็กระป๋องนมนั่นแหละ) ไว้ยกขึ้นบ้วนน้ำหมาก กระโถนใหญ่เอาไว้สำหรับคายชานหมากทิ้งแล้วบ้วนปาก

แต่เครื่องราชูปโภคชุดนี้ เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับประกอบพระเกียรติยศเท่านั้น

ชุดเสวยพระสลาหรือพระศรีที่ทรงใช้จริงๆนั้นมีสองสำรับ เป็นทองลงยาสำรับหนึ่งสำหรับทรงใช้เวลาปกติ อีกสำรับหนึ่งเป็นเครื่องนากสำหรับทรงใช้ในวันพระ เพราะวันพระใช้เครื่องทองเครื่องเงินไม่ได้ ส่วนเครื่องนากนั้นถือว่าเป็นทองแดง ทั้งเครื่องทอง เครื่องนาก ประกอบด้วย ชุดอย่างเดียวกันกับเครื่องราชูปโภคทั้ง ๔ แต่เรียกว่า เครื่องพานพระศรี

ที่เคยมีผู้สงสัยเรื่อง พานพระขันหมาก และ พานพระศรี คงทราบได้ตอนนี้

จริงๆแล้ว ก็คือพานหมากเหมือนกัน หากแต่ในเครื่องราชูปโภค ประกอบพระอิสริยยศ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ท่านเรียกว่า ‘พานพระขันหมาก’

แต่ที่ทรงใช้จริงๆ ท่านเรียกว่า ‘พานพระศรี’ ซึ่งมีเครื่องพานพระศรี คือ เชี่ยนหมาก ๑ (เรียกว่าพานพระศรี)
ที่ใส่น้ำเย็นพร้อมจอก ๑ (ทอง เรียกว่า พระสุวรรณภิงคาร นากเรียกพระเต้านาก)
กระโถนเล็ก (พระสุพรรณศรี)
กระโถนใหญ่ (พระสุขพรรณราช)
เป็นอันจบเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคที่ถามมา
แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค ดังกล่าวแล้วยังมีเครื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งต้องเชิญตามเสด็จเพื่อถวายต่อพระราชหัตถ์อีก รวมแล้วทั้งหมด ๒๗ สิ่ง ในจดหมายเหตุเรียกรวมกันว่า เครื่องบรมราชาภิเษก คือ

๑. พระสุพรรณบัฏ
๒. พระสังวาลย์พราหมณ์ธุรำ
๓. พระสังวาลย์นพรัตนราชวราภรณ์
๔. พระสังวาลย์พระนพ
๕. พระมหาพิชัยมงกุฎ
๖. พระแสงขรรค์ไชยศรี
๗. ทานพระกร
๘. พัดวาลวิชนี
๙. พระแส้จามรี
๑๐. พระแส้หางช้างเผือก
๑๑. พระธำมรงค์วิเชียรจินดา
๑๒. พระธำมรงค์รัตนวราวุธ
๑๓. ฉลองพระบาทเชิงงอน ผู้รับจากผู้เชิญเครื่องสอดถวาย
๑๔. พระแสงฝักทองเกลี้ยง
๑๕. ทานพระกรเทวรูป
๑๖. พระสุพรรณศรีบัวแฉก
๑๗. พานพระขันหมาก
๑๘. พระมณฑป
๑๙. พระเต้าทักษิโณทก
๒๐. พระแสงหอกเพชรรัตน์
๒๑. พระแสงดาบเชลย
๒๒. พระแสงตรี
๒๓. พระแสงจักร
๒๔ พระแสงเขนมีดาบ
๒๕. พระแสงธนู
๒๖. พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย
๒๗. พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสโตง

หมายเหตุ
ลำดับที่ ๑๖-๑๗ ผู้เชิญ เชิญไปตั้งบนโต๊ะข้างพระที่นั่งภัทรบิฐเบื้องขวา
ลำดับที่ ๑๘-๑๙ ผู้เชิญ เชิญไปตั้งบนโต๊ะข้างพระที่นั่งภัทรบิฐเบื้องซ้าย
ลำดับที่ ๒๐-๒๗ รวมเรียกว่า พระแสงอัษฎาวุธ

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2463&stissueid=2557&stcolcatid=2&stauthorid=13

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น