โรคร้ายที่มากับโลกร้อน
หลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และองค์กรที่เฝ้าติดตามภูมิอากาศโลกได้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า อุณหภูมิของโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณปี 1750) โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ถึง 14 องศาเซลเซียส แต่ในปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นมาใกล้ระดับ 15 องศาเซลเซียสแล้ว เฉพาะในช่วงเวลาประมาณ 150 ปีมานี้ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.7 องศาเซลเซียส
หลายคนอาจจะมองว่าสิ่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยสำหรับโลกใบนี้ เพราะภาวะโลกที่ร้อนขึ้นในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังวิตกกังวลเป็นอย่างมาก และถ้ายังไม่ได้รับการเอาใจใส่และเยียวยาอย่างจริงจัง ภาวะโลกร้อนก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้
โลกร้อนไม่ได้นำพามาแต่ความร้อนเท่านั้น แต่ยังนำภัยอันตรายมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลกระทบไปยังปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วยนอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนก็ยังนำมาซึ่งอันตรายจากโรคร้ายได้อีกด้วย!!!
นพ.วัชระ พุ่มประดิษฐ์ อายุรแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ บอกว่า ในภาวะโลกร้อน และอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้นหลายองศาเซลเซียสนั้น จะทำให้ภูมิภาคที่มีอากาศเย็นเริ่มร้อนขึ้น และโรคภัยต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศในแถบร้อนก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ส่วนประเทศในแถบร้อนที่ปกติอุณหภูมิก็สูงอยู่แล้วนั้น ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นไปอีก
นพ.วัชระ บอกด้วยว่า โรคที่จะมาในภาวะโลกร้อนนั้น แบ่งออกได้ 3 โรคใหญ่ๆ1.ฮีตสโตรก (Heat Stroke) ภาวะเป็นลมเนื่องจากความร้อนสูงเกินไป นับเป็นด่านแรกของภัยสุขภาพยุคโลกร้อน ซึ่งโรคนี้คนในประเทศร้อนมักจะไม่ค่อยเกิดอาการมากนัก เนื่องมาจากการชินกับความร้อน แต่ในอนาคตข้างหน้าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 7-10 องศาเซลเซียส คนในประเทศร้อนก็อาจจะเกิดอาการนี้ได้บ่อยๆ เช่นกัน
อาการที่ว่านี้ จะเกิดจากการที่ร่างกายนั้นได้รับความร้อนมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากการออกกำลังกาย หรือการเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน จนอุณหภูมิในร่างกายสูงเกินขีดที่จะทนทานได้
“ยิ่งโลกร้อนคนในประเทศหนาว อย่างในยุโรปก็จะมีภาวะฮีตสโตรกเกิดขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากภาวะที่อากาศร้อนเกินไปจนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เสียเกลือแร่ในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งเหล่านี้อาจจะทำให้คนตายได้ เช่น คนที่ติดอยู่ในลิฟต์ ถ้าเป็นคนที่ไม่แข็งแรง หรือมีอายุมากหน่อยติดลิฟต์สักครึ่งชั่วโมงแล้วร่างกายปรับตัวไม่ทันก็อาจจะเสียชีวิตได้เลย”
2.อาการภูมิแพ้ อาการเช่นนี้ นพ.วัชระ บอกว่า “เกิดมากจากภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงมาก จนทำให้เกิดกรีนเฮาส์เอฟเฟกต์ บรรยากาศร้อนขึ้น ซึ่งเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากๆ ก็จะไปกระตุ้นให้สาหร่าย พืช หรือวัชพืชบางอย่าง ที่ปกติไม่ขึ้นอยู่ในที่สูง หรือในอากาศหนาวๆ ขยายตัวได้มากขึ้นในที่ที่อากาศหนาว ซึ่งเมื่อพวกวัชพืชพวกนี้เพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะก่อสารให้เกิดภูมิแพ้ได้มากขึ้น เนื่องมาจากการสร้างละอองเกสรที่ลอยมาในอากาศก็ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้มากขึ้น รวมทั้งเรื่องของมลภาวะก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคหอบหืดเกิดอาการได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น หรือคนที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบจากการสูบบุหรี่ก็จะมีปัญหามากขึ้นด้วย”
3.โรคที่มากับแมลง เนื่องจากแมลง เช่น ยุง แมลงวันนั้นปกติจะชอบอากาศอบอุ่น ค่อนข้างร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น โรคไข้เลือดออก มาลาเรียได้มากในประเทศร้อน แต่ในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวอย่างยุโรปนั้น มักจะไม่ค่อยต้องมากังวลเรื่องไข้เลือดออก หรือมาลาเรีย เนื่องจากแมลงมักจะอาศัยอยู่ในอากาศเย็นไม่ค่อยได้
“แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นบริเวณที่แมลงเหล่านี้สามารถขยายพันธุ์ไปได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น มีการเจอโรคแบบนี้ในที่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน คือ ในที่ที่มีอากาศหนาวๆ อย่างเช่น ที่เคยเจอกันก็คือในประเทศโคลัมเบีย ที่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 7,000 กว่าฟุตก็เจอได้ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเจอ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของโลก หรืออินโดนีเซียในบริเวณที่อยู่บนภูเขาสูง อากาศเย็น แต่เดิมไม่เคยเจอโรคมาลาเรีย แต่ตอนนี้ก็เริ่มเจอได้มากขึ้นแล้ว ซึ่งก็จะยิ่งทำให้บ้านเรามีโอกาสเกิดขึ้นมากได้เช่นกัน เพราะเป็นโซนที่อากาศร้อนอยู่แล้ว”
มีการยอมรับจากเวทีการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อในภาวะโลกร้อนระดับนานาชาติว่า หนึ่งในโรคที่มีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นในยุคโลกร้อนที่ต้องจับตามอง คือ ไข้เลือดออก เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยแล้ว ในขณะนี้ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ได้ขยายเวลาออกหากินจากช่วงกลางวันเป็นเลย 5 ทุ่มด้วย ซึ่งทำให้ยากต่อการป้องกัน หรือวินิจฉัยโรค เนื่องจากแยกแยะได้ลำบากว่ายุงนั้นเป็นยุงลาย หรือยุงรำคาญที่หากินช่วงค่ำไปถึงดึก
ยิ่งไปกว่านั้นยุงลายตัวผู้ในยุคโลกร้อนยังถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้เลือดออก ทั้งที่ไม่ได้ดูดเลือดเป็นอาหารแบบตัวเมีย ซ้ำบางตัวยังมีเชื้อไวรัสนี้ถึง 2 สายพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งข้อแนะนำในการดูแลตัวเอง เพื่อให้ห่างไกลจากโรคที่มาในภาวะโรคร้อนนั้น นพ.วัชระ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือให้ดูแลสุขภาพไปตามปกติ นั่นก็คือ การทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเท่านั้นเอง ส่วนใครที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ก็พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลภาวะสูง แต่นั่นก็เป็นไปได้ยาก เพราะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่นั้นหลีกเลี่ยงจากมลภาวะค่อนข้างลำบาก
“อันตรายจากภาวะโลกร้อนบางครั้งก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะหลีกเลี่ยง สิ่งที่ทำได้ก็คือการดูแลตัวเองให้แข็งแรงเท่านั้นเอง อีกด้านหนึ่งที่เราทำได้ก็คือการช่วยกันลดภาวะโลกร้อน สุขนิสัยส่วนตัวที่ทำให้ปัญหามากขึ้นก็ต้องช่วยกันลดลง ช่น ลดการใช้พลังงานลง ลดการใช้กระดาษลง คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าโลกใบนี้มันใหญ่ใช้กระดาษน้อยลงแผ่นเดียวจะช่วยอะไรได้ไหม แต่จริงๆ แล้วภาวะโลกร้อนแบบนี้มันเกิดขึ้น ก็เพราะแต่ละคนทำลายโลกอย่างละนิดอย่างละหน่อยทั้งนั้นเลย ในที่สุดมันก็รวมกันเป็นพลังทำให้เกิดการทำลายโลกได้มากขนาดนี้ แต่ถ้าเราช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยก็ช่วยโลกนี้ให้ดีขึ้นได้” นพ. วัชระ ทิ้งท้าย
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=chicstory&date=31-05-2009&group=7&gblog=44
วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น