วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ยี่เป็ง

เป็นงานประเพณี อันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่ได้ปฎิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล "ยี่เป็ง" หรือวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมเนียมปฎิบัติของชาวล้านนาอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำก็คือ การจุดประทีปโคมไฟ ลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า โดยมีคติความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณี บนสรวงสวรรค์ หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ หรือสะเดาะเคราะห์ ให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต

ภาษาคำเมืองในภาคเหนือ คำว่า "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" ตรงกับคำว่า "เพ็ญ" หรือพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งชาวไทยในภาคเหนือจะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้เดือนสิบสองของไทยภาคกลาง ตรงกับเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของไทยล้านนา

ประเพณียี่เป็งจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด

ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยและผู้มีจิตศรัทธาก็จะพากันไปถือศีล ฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ หรือใครจะเอาของอื่น ๆ มาร่วมสมทบด้วยก็ได้เพื่อให้เป็นทานแก่คนยากคนจน ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และ ชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะตี้ป) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย การจุดบอกไฟ การจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัฒนธรรมของชาวล้านนาจะแบ่งโคมไฟออกเป็น 4 แบบด้วยกัน คือ

หนึ่ง"โคมติ้ว"หรือ โคมไฟเล็ก ๆ ที่ห้อยอยู่กับซีกไม้ไผ่ซึ่งผู้คนจะถือไปในขบวนแห่และนำไปแขวนไว้ที่วัด

แบบที่สองเรียก "โคมแขวน" ใช้แขวนบูชาพระพุทธรูป มีอยู่ด้วยกันหลายแบบเช่น รูปดาว รูปตะกร้า โดยปกติจะใช้แขวนตามวัด หรือแขวนตามหิ้งพระที่บ้านก็ได้

แบบที่สามเรียก "โคมผัด" ทำด้วยกระดาษสาเป็นรูปกรวยสองอันพันรองแกนเดียวกันด้านนอกจะไม่มีลวดลายอะไร ส่วนด้านในจะตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา เมื่อจุดโคมด้านใน แสงสว่างจะทำให้เกิดเงาบนกรวย ด้านนอกก็จะเคลื่อนไหวคล้ายตัวหนังตะลุง

แบบสุดท้ายเรียก "โคมลอย" เป็นโคมใหญ่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ตัวโครงทำจากซีกไม้ไผ่หุ้มด้วยกระดาษสา เมื่อจุดโคม ความร้อนจากเปลวไฟ จะทำให้โคมลอยตัวขึ้น การปล่อยโคมลอยนี้จะทำกันที่วัดหรือตามบ้านคนทั่ว ๆ ไป โดยเชื่อกันว่าโชคร้ายทั้งหลายจะลอยหายไปพร้อมกับโคม

ที่มา : คิดสแควร์, ลอยกระทงดอทเน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น