บรรยากาศของ “เมืองเหนือ” ชาวเมืองยังคงยึดถือวัฒนธรรม “แบบล้านนา” ทั้งทางด้านการแต่งกาย ภาษาพูด และขนมธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมีทั้งที่มาจากความเชื่อในลัทธิถือเจ้าถือผี เช่น การส่งเคราะห์ ส่งหาบส่งกอน ส่งปู่แถนย่าแถน สืบชะตาคน สืบชะตาข้าว สืบชะตาควาย (หลังสิ้นสุดการทำงาน) ประเพณีสงกรานต์ และความเชื่อในพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมไปถึงประเพณีตายก๋วยสลาก หรือประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลาง
ประวัติความเป็นมาของประเพณีตานก๋วยสลากมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งรู้ฤกษ์ยามเป็นอันดี ปีไหนฝนดีนางก็บอกให้ชาวเมืองทำนาในที่ดอน ปีไหลฝนไม่ดี นางก็บอกให้ชาวเมืองทำนาทำไร่ในที่ลุ่ม ชาวเมืองได้อาศัยนางยักษิณีทำมาหากินจำเริญวัฒนาไม่มีความเสียหาย เมื่อชาวเมืองรำลึกถึงอุปการะของนางถึงต่างพากันนำเครื่องสักการะไปให้นางเป็นอันมาก นางจึงนำเอาเครื่องสักการะเหล่านั้นถวายเป็นสลากภัตแด่พระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนบัดนี้
ความหมายของประเพณีตานก๋วยสลากประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึง ประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระพระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่) เรียกว่า “ก๋วยสลาก” แล้วนำของไทยทานจำพวกข้าวสารอาหารแห้งบรรจุลงไป บางวัด จะจัดเครื่องไทยทานลงในหม้อดินเผา แต่ในปัจจุบันก็อาจจะมีการดัดแปลงจาก “ก๋วยสลาก” มาเป็น “ถังพลาสติก” บรรจุเครื่องไทยทานเหมือนกับที่เรานิยมใช้กันทั่วไป นอกจากนี้อาจจะมีการตกแต่งเครื่องไทยทานเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงตามต้องการ นำไม้ไผ่เหลาและทำเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น , 5 ชั้น , 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ละชั้นนำสิ่งของที่จะใช้เครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ส่วนบนสุดจะนิยมนำร่มมาเสียบไว้ และใช้ธนบัตรผูกติดตามขอบร่มตามศรัทธาของเจ้าของกัณฑ์สลาก
วิธีการทำและการตกแต่งก๋วยชะลอมสำหรับใส่ของที่จะถวายพระสงฆ์ มีลักษณะคล้ายชะลอมใส่ผลไม้ มีลำดับขั้นตอนในการทำและตกแต่งดังนี้
1. เอาไม้ไผ่มาสานเป็นชะลอม คล้าย ๆ ชะลอมใส่ผลไม้
2. นำใบตองมารองในก๋วย
3. นำเครื่องไทยทานใสก๋วย ดังนี้ข้าวสารอาหารแห้ง ประกอบด้วย - ข้าวสาร- กระเทียม- หอมแดง- เกลือ- ปลาร้า- ปลาแห้ง- ปลากระป๋อง- พริกแห้ง- น้ำปลาขนาดเล็ก หมาก พลู กล้วย อ้อย ปูนแดง ปูนขาว ของคาวหวาน บุหรี่ (ยาขึ่น) ไม้ขีด ดอกไม้ธูปเทียน (สวยเตียน) เมื่อนำสิ่งของทั้งหมดใส่ในก๋วยแล้ว มัดปากก๋วยด้วยตอก แล้วนำเอาดอกไม้ธูปเทียน (สวยเตียน) เสียบไว้ข้างบน
ก๋วยสลากของแท้และดั้งเดิม การทำและแต่งต้นกัลปพฤกษ์
1. นำไม้ไผ่สูงตามต้องการทำเป็นเสาสลากของต้นกัลปพฤกษ์
2. นำไม้ไผ่เหลาเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น , 5 ชั้น , 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ส่วนมากนิยมทำเป็น 9 ชั้น
3. นำกระดาษย่นสีต่าง ๆ มาพันรอบเสาและชั้นของต้นกัลปพฤกษ์
4. แต่ละชั้นก็นำเครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ปัจจุบันจะนิยมใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วุ้นเส้น ถ้วย จาน ขันน้ำ ขนม แปรงฟัน ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผงซักฟอก สบู่ แก้วน้ำ แชมพูสระผม
5. ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู
6. ส่วนชั้นที่ 9 นำสบงมาติด
7. ส่วนชั้นที่ 1 นำเงินที่เป็นเหรียญมาห่อด้วยกระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วนำมาห้อยไว้
8. แล้วนำร่มคันเล็กมาติดปลายยอดสุด แล้วยังมีการผูกธนบัตรไว้ที่ขอบร่มตามศรัทธา
การทำเส้นสลาก เส้นสลากทำจากใบตาลหรือใบลาน แล้วเขียนข้อความอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ ล่วงลับและเทวดาทั้งหลาย และเส้นสลากจะมีการทำเครื่องหมายที่แตกต่างกันออกไป ในสลากอาจจะเขียนว่า “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้า นาย....... นางสาว.......... ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” อันหมายถึง ขอทำบุญไว้กับตนเอง “ผู้ข้า..............ขอทานไว้แก่ นาง..... ขอหื้อเป็นสุขเป็นสุขเถิด” อันหมายถึงมอบการบุญนี้เป็นอานิสงส์แด่ผู้อื่น อย่างนี้เป็นต้น
กัณฑ์สลากแต่ละกัณฑ์จะมีเส้นสลาก เขียนข้อความอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับและเทวดาทั้งหลายและมีชื่อเจ้าของกัณฑ์ เส้นสลากที่เขียนจะเขียนลงในแผ่นใบตาล หรือใบลาน หรือกระดาษแข็ง เท่าจำนวนของเครื่องไทยทาน และนำเส้นสลากไปกองรวมกันยังที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิหารหน้าพระประธาน กรรมการจะจัดแบ่งสลากออกเป็นกอง ๆ ตาจำนวนที่ พระภิกษุ สามเณร ที่นิมนต์มาร่วมพิธีและจัดแบ่งให้พระประธานด้วย ถือว่าเป็นตัวแทนของ พระพุทธเจ้า
ถ้ามีสลากจำนวนมาก พระภิกษุจะได้รับ 20 เส้น สามเณรได้ 10 เส้น เส้นที่เหลือสมทบถวายพระประธาน เมื่อเสร็จจากการแบ่งเส้นสลาก คณะกรรมการจะนำเส้นสลากที่แบ่งแล้วจำนวน 1 มัด ไปประเคนพระผู้อาวุโส ซึ่งเป็นประธานในพิธี ต่อจากนั้นกรรมการจึงนำเส้นสลากไปถวายพระเณรตามลำดับ
เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาจบแล้ว ชาวบ้านต่างแยกย้ายกันไปนั่ง ณ ที่จัดไว้ให้ชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลากต่างพากันตามหาเส้นสลากของตนที่อยู่ในมือของพระภิกษุสามเณร เมื่อพบแล้ว พระภิกษุสามเณรอ่านเส้นสลากแล้วจึงถวายของ เมื่อรับพรเสร็จรับเส้นสลากของตนไปเผา แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ตายเป็นเสร็จพิธีสำหรับเครื่องไทยทานที่จัดทำเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เจ้าของต้องนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรที่ได้เส้นสลากไปยังที่ตั้งของเครื่องไทยทานเพื่อถวาย
บางครั้งกัณฑ์สลากจัดทำเป็นหุ่นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ขนาดใกล้เคียงของจริงทำด้วยหุ่นโครงไม้ไผ่หุ้มด้วยผ้า ทาสีสันให้เหมือนสัตว์จริง การถวายมีลักษณะเช่นเดียวกับกัณฑ์สลากอื่น ๆ การกินสลากนิยมจัดหลังจากการออกพรรษา ประเพณีตานก๋วยสลากบางหมู่บ้านจะจัดมีทุกปี บางหมู่บ้านอาจจัดเว้นปี หรือ 3 ปี จัดครั้งหนึ่ง หรือ 4 ปี หรือ 5 ปี ต่อครั้ง เพราะเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการจัดทำกัณฑ์สลาก
การตานก๋วยสลากจึงเป็นสิ่งสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของชุมชนและความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน การสืบสานประเพณีไทยและการจรรโลงพุทธศาสนา
http://idealanna.igetweb.com/index.php?mo=3&art=56313
วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น