วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กาแล

กาแล คือส่วนประดับอยู่บนหลังคาเรือน มีลักษณะเป็นไม้แบบเหลี่ยม แกะสลักให้มีลวดลาย เป็นส่วนที่ต่อจากปลายบนของปั้นลมเหนือจั่ว และอกไก่ โดยติดในลักษณะไขว้กันมีขนาดยาวประมาณ ๗๐ – ๑๐๐เซนติเมตร ความหนาประมาณ๒ – ๓เซนติเมตร และกว้างประมาณ๑๕ – ๒๐เซนติเมตร กาแล เป็นฝีมือการแกะสลักไม้ของทางภาคเหนือ ประกอบกับการที่มีลวดลายบางชนิดเป็นลวดลายเฉพาะท้องถิ่น ทำให้เกิดความงามที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับที่อื่นลักษณะของกาแลอาจจำแนกได้ดังนี้

1. รูปทรง แยกได้ 3 ประเภทตามลักษณะการอ่อนโค้ง ของตัวกาแลเอง คือ

ทรงตรง มีลักษณะตรงต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกับส่วนอื่นของปั้นลมไม่มีลักษณะอ่อนโค้งเป็นที่เห็นชัด รูปทรงนี้พบมากที่สุด

ทรงอ่อนโค้งคล้ายเขาควาย มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนโคนของกาแลจะโค้งออกเล็กน้อยทั้งสองข้าง และวกเข้าด้านในเล็กน้อย โดยปลายบนกลับโค้งออกด้านนอกอีกกาแลในลักษณะนี้พบได้น้อยกว่าแบบแรก

ไม่ว่ารูปทรงของกาแลจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้ พบว่า กาแลเป็นไม้แผ่นเดียวกับไม้ปั้นลม หรือหากมีการต่อก็จะต่อให้ดูเป็นไม้แผ่นเดียวกัน

ทรงคล้ายกากบาท มีความยาวน้อยกว่าสองชนิดข้างต้น ปลายบนมีลักษณะของเศียรนาคผงาดหน้าเข้าหากัน ส่วนปลายล่างกลม และมักมีการฉลุโปร่ง กาแลชนิดนี้ เป็นชนิดที่นำเอามาทาบติดกับปั้นลม

2. ลวดลายแกะสลักกาแลทุกชนิดที่พบ มีการแกะสลักเป็นลวดลายที่มีความงดงามต่างๆกันไป ลักษณะลวดลายอาจแบ่งได้ 3 ชนิดคือ

ลายกนกสามตัว ลวดลายเริ่มที่โคนของกาแล ประกอบด้วยโคนช่อกนก ซึ่งมีกาบหุ้มก้านซ้อนกันหลายๆชั้น คล้ายก้านของไม้เถาที่ผุดออกมาตามธรรมชาติ จากนั้นก้านกนกก็แตกออกเป็นช่อตามระบบกนกสามตัว ซึ่งสลับหัวกันคนละข้างจนถึงยอดกนก หรือยอดกาแลกาบก้านก็สะบัดโค้งและเรียวแหลมที่สุดยอด ลายกนกนั้นมีข้อปลีกย่อยต่างจากลายของภาคกลางบ้าง เช่น การขมวดหัวมีมาก ขมวดกลมเป็นก้นห้อย แต่ไม่นูนแหลมนัก ใช้หัวใหญ่กว่า การสะบัดหางกนกสั้นกว่าแต่โค้งงอมาก และลักษณะทั่วๆไป กนกตัวใหญ่กว่าของภาคกลาง ก้านกนกดูซ้อนกันหลายชั้นส่วน เป็นเพราะมีกาบหุ้มก้านมาก หัวกนกของกาบที่ขมวดจับก้าน มีขนาดใหญ่ม้วนกลมมาก ก้านลึกและหัวกนกงอมาก

ลายเถาไม้หรือลายเครือเถา มีลักษณะคล้ายเถาไม้ หรือช่อกิ่งและใบไม้ที่เกาะกันช่อปลายขมวด ลายเริ่มที่โคนกาแลเหมือนกัน ประกอบด้วยก้านและกาบหุ้มก้าน ลายส่วนใหญ่ประกอบด้วยก้านซึ่งมีกาบหุ้มหลายชั้น ส่วนนอกของกาบเมื่อใก้ลยอดจะกลายเป็นใบ ซึ่งปลายของใบขมวดเหมือนลายผักกูด การโค้งงอของช่อใบสลับกันคนละข้าง จนถึงยอดช่อซึ่งสะบัดโค้งงออย่างสวยงาม

ลายเมฆไหล เป็นจินตนาการของศิลปินที่มีต่อเมฆ ลายเมฆไหลที่นำมาใช้สำหรับกาแลไม่ค่อยเหมือนลายเมฆไหลที่ใช้สำหรับส่วนอื่น คือมีองค์ประกอบของลายกนก หรือลายเครือเถาอยู่ ประกอบด้วยก้านกนกเป็นกาบหลายชั้น และแตกเป็นก้าน และช่อตามระบบกนกสามตัวเช่นกัน แต่ตัวกนกแต่ละตัวมีลักษณะเหมือนลายเมฆ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ รูปแบบลายผูกเป็นเถา แต่ตัวกนกเป็นลักษณะลายเมฆ ลักษณะเมฆไหลนี้กล่าวโดยย่อคือ ลายประกอบตัวก้านลายที่ขดหยักเหมือนไหลไปมา และตวัดวกกลับอย่างเฉียบพลัน ตรงบริเวณที่ตวัดกลับจะเป็นหัวขมวดม้วนกลม ได้ลักษณะหัวขมวด แต่แตกก้านออกเป็นสองก้าน ซึ่งวิ่งแยกจากกันคนละทิศ

ที่มาของกาแลเนื่องจากกาแล
เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของเรือนชนิดนี้ จึงมีผู้กล่าวถึงกันมาก ถึงความเป็นมาของกาแลไว้หลายนัย ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

ทำไว้เพื่อป้องกันแร้ง และกา มาเกาะหลังคา ทางภาคกลางถือว่าถ้าแร้งเกาะหลังคาไม่ดี แต่ทางเหนือถือมากกว่านั้น คือถ้าแร้ง หรือกาเกาะหลังคา ถือว่าจะเป็นอัปมงคล เมื่อกา แลเห็นไม้กาแล ก็จะไม่กล้าเกาะที่หลังคาพม่าบังคับให้ทำ โดยเล่ากันว่าพม่าต้องการกดคนล้านนามิให้คิดทรยศ โดยถือเอากาแลเป็นเครื่องรางกดไว้ ซึ่งเอาคติมาจาก คติการฝังศพในสมัยก่อน ที่จะใช้หลักกระทู้ปักไขว้กันไว้บนหลุมฝังศพ เป็นการข่มศพมิให้หนีหาย

สืบเนื่องมาจาก ประเพณีฆ่ากระบือ เพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษ จึงได้มีการนำเอาเขากระบือ ขึ้นไปประดับไว้บนยอดหลังคา เป็นการโฆษณาความร่ำรวยของเจ้าของเรือนนั้น ในที่สุด จึงได้กลายเป็นประเพณีการทำกาแลขึ้นแทนเขากระบือ

เป็นวิวัฒนาการที่สืบต่อมาจากเรือนซึ่งสร้างมาแต่สมัยโบราณ ที่มีปั้นลมไขว้กัน ถึงแม้กระท่อม ( ตูบ ) ซึ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน ก็ยังมีไม้ปั้นลมเป็นไม้ไผ่ไขว้กัน ปรากฏอยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะ ทำให้การก่อสร้างสะดวก เป็นไปตามธรรมชาติ และยึดไม้ให้อยู่ดัวยกันอย่างมั่นคงแข็งแรงด้วย ต่อมามีวิวัฒนาการ คือแกะสลักลวดลาย จนดูสวยงาม ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง เป็นการรักสวยรักงามของชาวล้านนา

ที่มา: เรียบเรียงจากล้านนาคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น