วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ศาลพระภูมิ การนับถือผี

การนับถือผี มีส่วนเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นระหว่างความเชื่อแต่ดั้งเดิมของชาวบ้านกับพุทธศาสนา ซึ่งมิได้ถูกจำกัดเฉพาะผีคนตาย หากแต่ยังครอบคลุมถึงสรรพสิ่งรอบข้างที่สามารถจับต้องได้ แน่นอนว่าในบ้านเราความเชื่อเช่นนี้มีมาแต่เดิมแล้ว ทั้งยังมีศิลาจากรึกและพงศาวดารต่าง ๆ มากมายกล่าวถึง นอกจากนั้นในวรรณกรรมไทยหลายเรื่องก็ยังกล่าวอ้างให้เห็นความเชื่อในเรื่องผี แม้แต่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่มีกำเนิดในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนที่ขุนแผนกับพระไวยยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ก็ยังมีการตั้งศาลผีขึ้นเพื่อบวงสรวงดวงวิญญาณ

ในคติความเชื่อทั้งหลายนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธ หากนับเอาศาสนาเป็น "ศูนย์รวม" ทางจิตใจของคน นักมานุษยวิทยาได้ให้คำจำกัดความไว้อย่างน่าฟังว่า ศาสนาหมายถึงความเชื่อในดวงวิญญาณและการเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่ตามมาก็คือการบูชาบวงสรวงเพื่อให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่าง "มนุษย์" กับ "อำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ"

ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลผีบรรพบุรุษมากที่สุด ประเพณีการตั้งศาลพระภูมิเริ่มมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อีกทั้งคนไทยที่รับเอาประเพณีนี้เข้ามาใช้ จะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องราวหรือตำนานศาลพระภูมิ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในศาลหน้าบ้านให้คนกราบไหว้บูชา

ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีการตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่และศาลผีบรรพบุรุษมากที่สุด ประเพณีการตั้งศาลพระภูมิเริ่มมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อีกทั้งคนไทยที่รับเอาประเพณีนี้เข้ามาใช้ จะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องราวหรือตำนานศาลพระภูมิ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ในศาลหน้าบ้านให้คนกราบไหว้บูชา

ในรายงานทางวิชาการเรื่อง "การนับถือเจ้า เทพ และพรหม ในระบบความเชื่อของชาวเมือง" ของอาภาภิรัตน วัลลิโภดม ได้ศึกษาระบบความเชื่อเรื่องศาลพระภูมิ กล่าวว่า พระภูมิเป็นเทพที่ผสมผสานระหว่างฮินดูกับพุทธ เรื่องของพระภูมินั้นเป็นเรื่องของการยืมเทพจากสวรรค์มาช่วยคนบนพื้นโลก และเพื่อให้เกิดการเชื่อถือยอมรับได้ จำต้องอิงเรื่องราวเทพในฮินดูมาสนับสนุน ศาลพระภูมิเป็นความเชื่อประจำบ้านที่ไม่ใช่ผีธรรมดา หากแต่เป็นเทวดาระดับหนึ่ง ดังนั้นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องย่อมไม่ธรรมดา

ตำนานศาลพระภูมิเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งมีพระเจ้ากรุงพาลี พระองค์หนึ่งมีนามว่า "พระภูมิ" ครองกรุงพาลีมาช้านาน จนมีพระโอรสถึง 9 องค์ ซึ่งแต่ละองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้วยประการต่าง ๆ พระภูมิจึงทรงตั้งพระโอรสไปเป็นพระยาปลัดรักษาสิ่งต่าง ๆ คือ พระชัยมงคล มีหน้าที่รักษาเคหะสถาน บ้านเรือน หอค้าต่าง ๆ พระนคร-ราช รักษาค่ายทวาร พระเทวเถร รักษาคอกสัตว์ พระชัยสพ รักษายุ้งข้าว พระคนธรรพ์ รักษาเรือนหอ พระวันรัต รักษาที่นา พระธรรมิกราช ดูแลรักษาอารามและอุทยานต่าง ๆ และพระทาษราชา ทำหน้าที่รักษาแม่น้ำ

เรียกว่าพระโอรสแต่ละองค์จะทำหน้าที่ปกป้องรักษาสถานที่ไปคนละอย่าง โดยมีพระภูมิเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานของพระโอรส นอกจากนี้ พระเจ้ากรุงพาลียังมีบริวารคนสนิทอยู่อีก 3 คนคือ นายจันถี นายจันทิศ และจ่าสพพระเชิงเรือน ทำหน้าที่รับใช้อยู่ตีนโรงตีนศาลด้วย

แต่ทำไม พระภูมิ ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงพาลีต้องมาทำหน้าที่รักษาทรัพย์สินทั้งหลายในโลกมนุษย์ ทั้ง ๆ ที่แค่ครองกรุงพาลีอย่างเดียวก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ซึ่งมีตำนานความเป็นมาซึ่งเขียนไว้ในตำนานพุทธศาสนากล่าวถึง พระภูมิว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเข้ายังเป็นเพียงพระโพธิสัตว์ กำลังบำเพ็ญญาณอยู่ใต้ต้นนิโครธาอันไพศาล ตกกลางคืนก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน พระเจ้ากรุงพาลีนามว่า "พระภูมิ" เสด็จมาไล่ที่ ขับไล่พระโพธิสัตว์ออกจากแผ่นดินกรุงพาลี

พระโพธิสัตว์จึงทรงขอพื้นที่เพื่อใช้ในการบำเพ็ญญาณทางธรรมจากพระเจ้ากรุงพาลีเพียงแค่ 3 ก้าวเดิน พระภูมิทรงเห็นว่าที่ดินเพียงจิ๊บจ้อยแค่นี้เองทำไมจะให้ไม่ได้ จึงทรงอนุญาตให้ที่ดิน 3 ก้าวเดินตามที่พระโพธิสัตว์ขอ

แล้วก็เกิดเหตุการณ์อภินิหารต่อหน้าพระเจ้ากรุงพาลี เมื่อพระโพธิสัตว์ย่างเท้าเพียง 2 ก้าวก็พ้นเขตแดนกรุงพาลีจนสุดขอบโลก เล่นเอาพระภูมิเดือดร้อน ต้องระเห็จไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์โน่น พระเจ้ากรุงพาลีจึงต้องให้คนสนิททั้งสาม มาทูลขอที่ดินคืนจากพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเมตตาคืนที่ดินทั้งหมด

ให้แก่พระเจ้ากรุงพาลีเพื่อให้พระภูมิใช้เป็นที่อยู่อาศัย บำเพ็ญตนในสุจริตธรรมและเพื่อป้องกันมิให้พวกจัณฑาลหรือโจรไม่มีที่อยู่มาอาศัยอยู่ในที่ดินนั้น ทำให้โลกเกิดสันติสุข

พระภูมิจึงได้กลายเป็นผู้ปกป้องรักษาทรัพย์สินต่าง ๆ ในโลกมนุษย์ตั้งแต่นั้นมา มนุษย์จึงต้องศาลให้พระภูมิมาสิงสถิตย์เพื่อช่วยปกปักรักษาบ้านเรือนและคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุขแต่วิธีการจะตั้งศาลพระภูมินั้น ใช่ว่าจะกระทำได้โดยง่ายเพียงซื้อศาลมาตั้งแล้วจุดธูปบอกกล่าวธรรมดา ๆ ได้ จะต้องมีการ

ประกอบพิธีกรรม บวงสรวงสังเวย ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีมานาน เหมือนกับประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่ใครๆจะต้องทำ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านและบริวารที่อาศันอยู่ในบ้านด้วย

นอกจากการทำพิธีบวงสรวงแล้ว ยังต้องมีพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิที่ถูกต้องตามแบบประเพณีพราหมณ์โบราณ พิธีกรรมนี้จะต้องใช้ผู้ทรงคุณวุฒิหลายแขนง อาทิให้โหรเป็นผู้เลือกชัยภูมิที่ตั้งกำหนดทิศทาง รูปทรงของศาลพระภูมิ หาฤกษ์ยามยกศาล ซึ่งจะต้องใช้พราหมณ์เป็นผู้กระทำในพิธีทั้งหมด

พิธีการตั้งศาลพระภูมิจึงได้รับความนิยมด้านความเชื่อในหมู่คนไทยเป็นจำนวนมาก สังเกตได้จากแต่ละบ้านจะมีการตั้งศาลพระภูมิไว้ที่หน้าบ้านเกือบทุกหลัง ยกเว้นในหมู่คนเมืองล้านนาที่ไม่นิยมมีศาลพระภูมิ เพราะว่าพวกเขามีผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่าคอยปกป้องคุ้มครองอยู่แล้ว

การนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทยอาจดูแตกต่างจากจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนจีนเป็นการสืบสานตระกูลฝ่ายบิดา จึงกำหนดได้แน่นอนมากกว่าส่วนการนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทยนั้น ค่อนข้างจะเหมารวมแบบกว้าง ๆ แต่โดยความหมายแล้วการนับถือเช่นนี้บ่งถึงการยึดติดในรูปแบบการดำเนินชีวิต

ที่บรรพบุรุษกำหนดไว้ นอกจากนั้นในดินแดนล้านนายังมีตำนานพื้นเมืองที่กล่าวถึงการนับถือผีบรรพบุรุษก็คือ การเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษของชาวลัวะ เจ้าของถิ่นเดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้ว และทุกวันนี้ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองเชียงใหม่ ยังคงรักษารูปแบบความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้

นอกจากนั้นยังมีคติความเชื่อในการนับถือผีมด ซึ่งเป็นผีไทยโบราณและผีเม็ง ซึ่งเป็นผีในตระกูลผีปู่ย่าที่สืบเชื้อสายมาจากมอญ หรือ พม่า ผีกลุ่มนี้เป็นตระกูลขุนนาง สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ประกอบส่วนใหญ่จะได้แก่ ข้าวเหนียว หมาก พลู มะพร้าว กล้วย อ้อย เหล้า ข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แสดงถึงความสมบูรณ์และสงบสุขในชีวิต โดยอิงพื้นฐานจากสังคมเกษตรกรรม

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ "ผี" และอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในรอยต่อระหว่างอารยธรรมเก่ากับความเชื่อของคนต่อการนับถือผีนั้น ยังจำเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการหล่อหลอมวิถีชีวิตด้วยพิธีกรรมที่นอกเหนือไปจากความเชื่อทางศาสนา

http://idealanna.igetweb.com/index.php?mo=3&art=77874

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น