วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย 1




เริ่มที่ ควาย ปรากฎอยู่ในสำนวน “ฆ่าควายเสียดายพริก”บางทีก็ว่า “ฆ่าควายเสียดายเกลือ” สำนวนนี้มาจากการล้มวัวล้มควาย (ฆ่าวัวฆ่าควาย) เพื่อนำเนื้อและอวัยวะต่างๆ ของมันมาทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน เช่น งานบวช งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ เจ้าภาพหรือเจ้าของงานอุตส่าห์ลงทุนลงแรงล้มวัวล้มควายเพื่อนำเนื้อของมันมาทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อ ถ้ามัวแต่เสียดายเครื่องปรุงรสอย่างพริกและเกลือเสียแล้ว อาหารที่ทำก็คงมีรสชาติไม่อร่อย สำนวนว่า ฆ่าควายเสียดายพริก หรือ ฆ่าควายเสียดายเกลือ จึงหมายความว่า ทำงานใหญ่โตหรือจัดงานใหญ่โต ถ้ามัวแต่ตระหนี่ถี่เหนียวกลัวหมดเปลืองหรือเสียดายเงินก็จะทำให้งานเกิดความเสียหายได้


ส่วน กระต่าย ปรากฎอยู่ในสำนวน “กระต่ายตื่นตูม” และ “กระต่ายหมายจันทร์” สำนวนกระต่ายตื่นตูมมีที่มาจากนิทานที่เล่ากันต่อๆ มา ชาวกรมประชาสัมพันธ์คงจำนิทานเรื่องนี้ได้ เรื่องมีอยู่ว่า กระต่ายนอนหลับอยู่ใต้ต้นตาล ลูกตาลหล่นจากต้นลงมาที่พื้นดินเสียงดังตูมกระต่ายตกใจตื่นและออกวิ่งสุดชีวิตเพราะคิดว่าฟ้าถล่ม คนโบราณจึงนำสำนวนว่า กระต่ายตื่นตูม มาเปรียบเทียบกับคนที่ตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ถ้าเราได้ยินข่าวรือว่าจะเกิดสงครามโลกบ้าง น้ำมันจะหมดโลกบ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนหวาดกลัววิตกกังวลเกินเหตุตระหนกตกใจกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเปรียบได้กับพฤติกรรมของกระต่ายในนิทาน สำนวนกระต่ายตื่นตูมนี้ จึงใช้ในความหมายเชิงตำหนิ คนที่หวาดกลัว วิตกกงวลกับเหตุการณ์หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น


กระต่ายปรากฎตัวอยู่ในอีกสำนวนหนึ่ง คือ สำนวน “กระต่ายหมายจันทร์” ธรรมชาติของกระต่ายชอบหากินตอนกลางคืน ส่วนกลางวันจะนอนเล่นตามร่มไม้ เพราะเหตุที่กระต่ายชอบหากินตอนกลางคืนนี้เอง ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า มันชอบแสงจันทร์ชอบแหงนดูพระจันทร์ จึงนำเอาพฤติกรรมของกระต่ายมาเปรียบกับผู้ชายว่าเหมือนกระต่ายที่มีฐานะต่ำต้อยอยู่บนพื้นดิน หมายปองผู้หญิงซึ่งเปรียบเหมือนพระจันทร์ที่อยู่บนท้องฟ้ามีฐานะสูงไม่มีวันที่ผู้ชายต่ำต้อยจะสมหวังกับผู้หญิงสูงศักดิ์ได้ สำนวนกระต่ายหมายจันทร์ ใช้เปรียบคู่รักชายหญิงที่ไม่คู่ควรกัน ฝ่ายชายต่ำต้อยกับฝ่ายหญิงสูงศักดิ์ ซึ่งคล้ายกับสำนวนดอกฟ้ากับหมาวัด


มาถึง กระรอก ปรากฎตัวในสำนวน “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้”ชีวิตความเป็นอยุ่ของคนเดินป่าหรือพวกนายพรานนั้น เมื่อจะออกเดินป่าก็ต้องตัดไม้ไผ่มาทำกระบอกน้ำติดตัวเวลาเดินทางและต้องนำหน้าไม้ติดตัวไปด้วย (หน้าไม้ เป็นเครื่องยิงชนิดหนึ่ง มีคันและราง ยิงด้วยลูกหน้าไม้) แต่คนเดินป่าหรือนายพรานบางคนก็ไม่ชอบตัดไม้ไผ่ทำกระบอกน้ำติดตัวไป แต่จะไปหาเองข้างหน้าระหว่างเดินทาง จะเอาเฉพาะหน้าไม้ติดตัวไปเท่านั้น เมื่อพบแหล่งน้ำแล้วจึงค่อยตัดไม้ไผ่มาทำกระบอกน้ำ ถ้ายังไม่พบแหล่งน้ำยังไม่ตัดไม้ไผ่มาทำกระบอกซึ่งอาจจะเหนื่อยเปล่าเพราะไม่มีแหล่งน้ำก็ได้ เช่นเดียวกับการโก่งหน้าไม้ที่ยังไม่เห็นกระรอกให้ยิง การโก่งหน้าไม้ก็เสียเวลาเปล่า สำนวนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้จึงหมายถึง รีบทำไปทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม หรือยังไม่ถึงเวลาที่สมควร


ปิดท้ายกับ เต่าและตุ่น ที่อยู่ในสำนวน “โง่เง่าเต่าตุ่น” เต่า เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลักษณะเด่น คือ มีกระดอง ซึ่งเป็นสัตว์ที่รู้จักกันดี ส่วนตุ่น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างคล้ายหนูตะเภา ขุดรูเป็นที่อยู่อาศัย สำนวน “โง่เง่าเต่าตุ่น” นี้ ใช้ทั่วไปในความหมายของ คนโง่คนเซ่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น