วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประเพณีทอดกฐิน : ตำนาน ความหมาย และอานิสงส์

หลังจากวันออกพรรษาเป็นเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรือจำง่าย ๆ ว่าตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า " เทศกาลกฐิน " ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๙ ตุลาคม -๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เมื่อพูดถึง “ กฐิน ” คนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับซองทำบุญที่ได้รับในช่วงนี้ แต่เรื่องราวเกี่ยวกับ กฐิน ว่ามีตำนาน ความหมาย อย่างไร เชื่อว่าคงรู้กันไม่มากนัก ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำมาเสนอให้ได้ทราบ ดังต่อไปนี้

ตำนานความเป็นมา

มีตำนานเล่าว่าในครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ถือธุงดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความ ประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางไป พอไปถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางไปเฝ้า ระหว่างทางฝนตก หนทางเป็นโคลนตม ต้องบุกลุยไปจนถึงกรุงสาวัตถีได้รับความลำบากมาก ครั้งได้เฝ้าฯ พระพุทธองค์ทรงมีปฏิสันถารถึงเรื่องจำพรรษาและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทูลถึงความตั้งใจที่จะมาเฝ้า และความยากลำบากในการเดินทางให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และจะได้รับอานิสงส์จากพระวินัยบางข้อ ( กรานกฐิน เป็นพิธีฝ่ายภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน แล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง )

ความหมาย

คำว่า " กฐิน " มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ

๑ . เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวรที่อาจเรียกว่า " สะดึง " เนื่องจากสมัยพุทธกาลการทำจีวรให้มีลักษณะตามกำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ให้เป็นอุปกรณ์ในการทำผ้านุ่ง / ผ้าห่ม / ผ้าห่มซ้อนที่รวมเรียกว่า จีวร ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ( ผ้านุ่งพระ เรียกสบง / ผ้าห่ม เรียกจีวร / ผ้าห่มซ้อน เรียกสังฆาฎิ ) โดยพระสงฆ์จะช่วยกันทำโดยอาศัยแม่แบบนี้ เมื่อทำเสร็จและพ้นกำหนดกาลแล้วก็จะรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้ในปีต่อ ๆ ไป การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้านี้เรียกว่า " เดาะ " หรือ " กฐินเดาะ " ( เดาะกฐินก็เรียก )

๒ . เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวรตามแบบหรือกรอบไม้นั้น และต้องถวายตามกำหนดเวลา ๑ เดือนดังกล่าว ซึ่งผ้านี้จะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเก่าฟอกสะอาดหรือผ้าบังสุกุล ( ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ) ก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์หรือภิกษุสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันใช้ได้

๓ . เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ซึ่งต้องเป็นพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน ทั้งนี้ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าใหม่ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกกันติดปากว่า " ทอดกฐิน " ก็คือการทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ และต้องทำในเวลาที่กำหนด ๑ เดือนที่ว่า ถ้าทำก่อนหรือหลังไม่ถือว่าเป็นกฐิน

๔ . เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

ประเภทของกฐิน

จะแยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑ . กฐินหลวง ๒ . กฐินราษฎร์

๑ . กฐินหลวง มีประวัติว่าเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมาประดิษฐานในประเทศไทย และประชาชนชาวไทยได้นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีของบ้านเมืองมาโดยลำดับ และพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองก็ได้ทรงรับเรื่องกฐินเป็นพระราชพิธีอย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีดังกล่าว เป็นเหตุให้เรียกกันว่า กฐินหลวง ดังนั้น วัดใดก็ตามไม่ว่าวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ก็เรียกว่า กฐินหลวงทั้งสิ้น แต่สมัยต่อมากฐินหลวงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะการณ์ของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระกรุณาให้ถวายผ้าพระกฐินตามควรแก่ฐานะ กฐินหลวงปัจจุบันจึงได้แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

๑ . ๑ กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายเป็นประจำ ณ วัดสำคัญ ๆ ปัจจุบันมี ๑๖ วัด เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น

๑ . ๒ กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวงและมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธีแต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์

๑ . ๓ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปถวายยังวัดหลวง ที่นอกเหนือไปจากวัดสำคัญ ๑๖ วัดที่กำหนดไว้ เหตุที่มี กฐินพระราชทาน ก็เพราะปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลต่าง ๆ ที่สมควรขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้ ซึ่งกฐินดังกล่าวส่วนใหญ่ก็คือกฐินที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ นำไปถวายนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงวัดใดต้องติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามระเบียบเพื่อเป็นการจองไว้ก่อนด้วย

๒ . กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปถวายตามวัดต่าง ๆ ยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัดที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะของการทอด คือ

๒ . ๑ กฐินหรือมหากฐิน เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่ตนศรัทธาเป็นการเฉพาะ ผ้าที่เป็นองค์กฐินจะเป็นผืนเดียวหรือหลายผืนก็ได้ จะเย็บแล้วหรือไม่ก็ได้ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว และนิยมถวายของอื่น ๆ ที่เรียกว่า บริวารกฐิน ไปพร้อมกับองค์กฐินด้วย เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์ อย่างหมอน โอ่งน้ำ เตา ไม้กวาด จอบ เสียบ อาหาร ยาต่าง ๆ เป็นต้น

๒ . ๒ จุลกฐิน เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบเร่ง เดิมเรียกแบบไทย ๆ ว่า กฐินแล่น เจ้าภาพที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ต้องมีพวกและกำลังมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเป็นด้าย ทอด้ายให้เป็นผ้า ตัดผ้าและเย็บผ้าเป็นจีวร ย้อมสี และต้องทอดภายในวันนั้น และพระสงฆ์ก็ต้องกรานและอนุโมทนาในวันนั้น ๆ ด้วย เรียกว่าเป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว

๒ . ๓ กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน ไม่จำเป็นว่าใครบริจาคมากน้อย แต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้ง
บริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้ ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น

๒ . ๔ กฐินตกค้าง หรือ กฐินโจร กล่าวคือในท้องถิ่นที่มีวัดมาก ๆ อาจจะมีวัดตกค้างไม่มีใครไปทอด จึงมีผู้มีจิตศรัทธาเสาะหาวัดอย่างนี้ แล้วนำกฐินไปทอด ซึ่งมักจะเป็นวันใกล้สิ้นเทศกาลกฐินหรือวันสุดท้าย จึงเรียกว่า กฐินตกค้าง หรืออาจเรียกว่า กฐินโจร เพราะกิริยาอาการ ที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวจู่ ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้วัดรู้เพื่อเตรียมตัวคล้ายโจรบุก ซึ่งกฐินแบบนี้ต่างกับกฐินอื่นคือ ไม่มีการจองล่วงหน้า และจะทอดเฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด จะทอดหลายวัดก็ได้ และสามารถเอาของไทยธรรมที่เหลือจากวัดที่ไม่ได้ทอด ( กรณีไปหลายวัด ) ไปจัดเป็นผ้าป่า เรียกว่า " ผ้าป่าแถมกฐิน " ก็ได้

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน

การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติ ดังนั้น อานิสงส์ หรือผลดีจึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป

ข้อเสนอแนะ

ความมุ่งหมายของการทอดกฐินเดิม คือ การบำเพ็ญกุศล ด้วยการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต แต่ปัจจุบันประเพณีกฐินได้มีการเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม และก่อให้เกิดความลำบากใจแก่ผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นการเน้นการสร้างถาวรวัตถุ จนทำให้หลายคนถูกเรี่ยไรหลายวัดหลายซองทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ เกิดความเอือมระอา เป็นบุญที่คนเบือนหน้าหนี ทั้งๆ ที่ “ กฐิน ” เป็นการสร้างบุญกุศลที่ดีและมีกำหนดเวลาแน่นอน ดังนั้น วัดและพุทธศาสนิกชนที่จะทำบุญกฐิน จึงควรเน้นไปยังความหมายเดิม แต่น่าจะปรับเปลี่ยนแนวคิดบางเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการบริจาคปัจจัย หากจะมี ก็ควรเพื่อการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม หรือจะสร้างใหม่ก็ให้พอเหมาะพอควร ไม่มุ่งความใหญ่โต หรูหรา ขณะเดียวกัน ก็อาจนำปัจจัยที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆต่อชุมชน และสังคมบ้าง เช่น ตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาพระ เณร หรือเด็กวัดที่ขาดแคลน เป็นต้น ข้อสำคัญ ควรตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออกไป ส่วนการฉลองหรือสมโภชองค์กฐิน ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน เพราะมิใช่วัตถุประสงค์ของการจัดกฐิน และที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การงดเลี้ยงสุราเมรัย และเล่นอบายมุขอื่นๆระหว่างการเดินทางหรือในระหว่างมีงาน

หากปฏิบัติได้ดังกล่าว เชื่อว่า การทำบุญทอดกฐินคงจะมีส่วนช่วยเสริมความงดงามทั้งศาสนสถาน และความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของพุทธศาสนิกชน สมกับ เป็นการทำบุญปีละครั้งที่มีคุณค่า ความหมายในทางพุทธศาสนาของเรา

http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2548&MM=10&DD=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น