วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประวัติและความเป็นมา


ประวัติและความเป็นมา
การส่งบัตรอวยพรของต่างประเทศ เริ่มมีมามากกว่า 200 ปี แล้ว ในหนังสือ The Oxford Companion to the Decorative Arts หน้า 633 - 644 ได้อธิบายถึงเรื่องรูปการ์ดต่างๆไว้ว่า รูปแบบของบัตรอวยพรที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แบบแรกที่สุดจะเป็นบัตรเยี่ยม ( Visiting Card ) ซึ่งเริ่มมีใช้กันเมื่อ ราวกลางศตวรรษที่ 18 หรือประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรเยี่ยมนี้จะใช้เขียนข้อความเพื่อเยี่ยมเยียนกัน มีขนาดเท่าไพ มีลวดลายประดับแบบคลาสสิกพิมพ์ลงไปให้ดูสวยงาม บางทีก็พิมพ์รูปอาคารโบราณต่างๆ ต่อมาก็มีการทิ้งบัตรเขียนแสดงความชื่นชมในเทศกาลปีใหม่ไว้ที่บ้านของผู้ที่ตนไปเยี่ยมเยียน ( ในวันขึ้นปีใหม่ ) ซึ่งแสดงได้ว่าเริ่มมี ส.ค.ส.เกิดขึ้นแล้ว ( อเนก นาวิกมูล : ผู้เขียน )
หนังสือเล่มเดิมได้อธิบายต่อไปอีกว่า ในราวช่วง10 ปีหลังของ พ.ศ. 2303 หรือ ก่อนที่ไทยจะเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่นาน มีการพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ที่มีการเขียน โคลง กลอน โรแมนติก หรือข้อความสำเร็จรูปออกจำหน่าย จากบัตร ส.ค.ส. ต่อมาก็มีบัตรวาเลนไทน์ และมีการทำซองจดหมายสวยๆ ไว้ สำหรับส่งในวันคริสต์มาส ฯ ล ฯ จนกระทั่งมีบัตรอวยพรมากมาย หลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นในปัจจุบัน สำหรับบัตร ส.ค.ส. และบัตรคริสต์มาสนั้น หลังจากปี พ.ศ. 2403 มีการพิมพ์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย เพราะในช่วงนี้มีความนิยม และความต้องการกันอย่างสูง


ประวัติบัตรอวยพรของไทย
สำหรับบัตรอวยพรของไทยนั้น เราได้รับธรรมเนียมมาจากฝรั่ง เช่นเดียวกับการพิมพ์นามบัตร หรือพิมพ์การ์ดเชิญต่างๆ บัตรอวยพรที่เก่าแก่ที่สุด หรือแบบแรกที่สุด คือ บัตรอวยพรปีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทำขึ้นเป็นพระองค์แรก เมื่อ 120 กว่าปีก่อน บัตรอวยพรนอกจากนี้ได้แก่ บัตรอวยพรวันคริสต์มาส วันเกิด และ วันมงคลต่างๆ รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ติดต่อกับประเทศตะวันตก และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนวิทยาการของชาวตะวันตกหลายๆอย่าง การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน แต่ได้มีสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ( พ.ศ. 2409 ) ของพระองค์ ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ใน น.ส.พ. THE BANGKOK RECORDER ( ฉบับภาษาอังกฤษ ) ของหมอบรัดเลย์ แปลความได้ว่า ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลชาติต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน
บัตรอวยพรในสมัยรัชกาลที่ 5 มีตัวอย่างในหอจดหมายเหตุแห่งชาตินับร้อยๆแผ่น เรียกว่ามากพอสมควร ซึ่งสามารถแยกออกเป็นประเภทต่างๆได้ 4 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง ใช้นามบัตรแผ่นเล็กๆ เป็น ส.ค.ส. นามบัตรที่ว่านี้จะเล็กกว่าปัจจุบันนี้เล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีแต่ชื่อไม่มีสถานที่ บางบัตรก็เป็นบัตรที่ใช้พิมพ์ บางบัตรก็ใช้ปากกาเขียนคำว่า ส.ค.ส ปีนั้น ปีนี้ลงไป
ประเภทที่สอง จะใช้ ส.ค.ส. ที่ฝรั่งพิมพ์ขายอย่างสวยงาม บางแผ่นก็มีหลายชั้น สามารถยืดได้และพับได้
ประเภทที่สาม ใช้กระดาษเปล่าเขียนคำอวยพร และเซ็นชื่อข้างท้ายคล้ายกับการเขียนจดหมาย เท่าที่พบจะเป็นคำถวายพระพรรัชกาลที่ 5 จากขุนนาง หรือจากเจ้านายชั้นสูง
ประเภทสุดท้าย จะใช้วิธีการอัดรูป หรือข้อความลงในกระดาษอัดรูป การอัดรูปทำ ส.ค.ส. นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการทำกันในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็เคยนิยมทำกัน
สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสมัยที่เกิดคำว่า ส.ค.ศ. หรือ ส่งความศุข ขึ้น การส่ง ส.ค.ส. ในรัชสมัยนี้ นิยมส่งกันตั้งแต่ต้นๆ รัชกาล ช่วงเวลาที่ส่งก็คือช่วงเดือนเมษายน เพราะเราเคย ขึ้นปีใหม่ในเดือนนั้น ซึ่งแตกต่างจากของฝรั่ง ไทยเริ่มมาขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามอย่างฝรั่ง เมื่อ พ.ศ.2483
การส่งบัตร ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรของคนไทยได้รับความนิยมเรื่อยๆมา . . . จนถึงปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันนี้ ส.ค.ส.ได้เปลี่ยนจากรูปแบบและลักษณะจากสมัยอดีต มาเป็น รูปวาด รูปถ่าย และรูปจากวัสดุสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งจะมีสีสันสวยสด และมีรูปแบบหลากหลายมากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ
1. โบราณที่สุดไทยยึดถือเอา วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย (ระยะเดือนธันวาคม ) เป็นวันขึ้นปีใหม่ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ 300 ปีก่อน ก็ยังถือแบบนี้


2. ต่อมาจะเริ่มแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ ไทยได้รับอิทธิพลของพราหมณ์ โดยยึดถือเอา วันขึ้น1 ค่ำ เดือน 5 ( ระยะเดือนเมษายน ) มาเป็นวันขึ้นปีใหม่แทน


3. เดิมเรายึดวันทางจันทรคติเป็นหลัก ซึ่งระบบแบบจันทรคติออกจะยุ่งยากในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระบรมราชโองการ กำหนดให้ใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ไปเสียเลย โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา


4. ปี พ.ศ. 2483 ในสมัยรัชกาลที่ 8 ทางราชการได้ประกาศให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2483 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ( แทนที่จะรอจนถึงวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นแบบเก่า ) ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า จะได้ยกเลิกอิทธิพลพราหมณ์ และให้สอดคล้องกับประเพณีไทยโบราณ ที่มีการยึดถือช่วง เดือนอ้าย ( ใกล้ถึงเดือนมกราคม ) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเราก็ได้ยึดหลักเกณฑ์นี้จนถึงปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสากลอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น