ม้าควบกั๊บกั๊บเดี๋ยวเดียวลับพาเราไป ม้าวิ่งเร็วไวเร็วทันใจ ควบกั๊บกั๊บกั๊บเพลงร้องเล่นสั้น ๆ ที่ชาวกปส. หลายคนยังคงจำได้ร้องได้ ม้า สัตว์สัญลักษณ์ปีมะเมียมาแล้ว มาพร้อมกับความคึกคัก พูดไทยเขียนไทยฉบับนี้ อักษรานำสำนวนไทยที่เกี่ยวกับม้า มาเขียนให้ชาวกปส ได้นึกถึงกัน
ม้าเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะมาแต่โบราณ การขี่ม้าไม่ใช่ของง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้ ม้าบางตัวไม่ยอมให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยขี่ได้ตามสบาย ยิ่งถ้าเป็นม้าพยศด้วยแล้ว ผู้ที่ไม่สามารถ ปราบให้มันละพยศได้ ก็อย่าหวังว่าจะขึ้นขี่มันได้โดยสะดวก วัวก็เช่นกัน แม้จะไม่พยศเหมือนม้า แต่ถ้าไม่รู้หลักไม่คุ้นเคยก็ไม่สามารถขี่ได้โดยง่าย แต่ถ้าคุ้นเคยรู้อัธยาศัยกันดี จะขี่จะบังคับให้ทำเช่นใดก็ได้ ดังนั้นสำนวนว่า “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” จึงหมายความว่า คุ้นเคยกันอย่างดีรู้ท่าที เข้าใจท่วงทำนอง ของกันและกัน ส่วนมากใช้ในความหมาย ของคนที่เคยเป็นสามีภรรยากัน
ในปัจจุบันถ้าจะว่าไปแล้ว วัวกับม้าเป็นสัตว์ที่มีค่ากับเจ้าของไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะวัวที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ดี ๆ ซื้อชายกันในราคาเป็นแสนเป็นล้าน เช่นเดียวกับม้าแข่งพันธุ์ดีๆ ซื้อขายกันในราคาเป็นแสนเป็นล้าน เช่นเดียวกับม้าแข่งพันธุ์ดีฝีเท้าดี เจ้าของคอกก็รักและหวงแหน ซื้อขายในราคาแพงเช่นกัน แต่สำหรับชาวบ้านธรรมดา ม้าจะมีค่าน้อยกว่าวัว เพราะวัวควายเป็นสัตว์ที่เป็นแรงงาน หลักในการทำมาหากินของชาวบ้าน ดังนั้นสำนวนว่า “ขายวัวไป ซื้อม้า” จึงใช้กันในความหมายว่าเสียของที่มีค่ามากไป ทำของที่มีค่าน้อย
เรามักพูดกันติดปากว่าควรหลีกเลี่ยง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” แม้การแข่งม้าจะเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันการแข่งม้าก็เป็นการพนันที่ได้เสียกันทีละมาก ๆ หากติดเข้าก็จะวิบัติล่มจมได้เช่นเดียวกับการเล่นการพนันชนิดอื่น ๆ เช่น การเล่นไพ่ที่เรียกกันว่ากีฬาบัตร ส่วนสุราหรือเหล้า เป็นสิ่งเสพติดซึ่งนอกจากจะให้โทษต่อตนเองคือเสียเงินเสียทองทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพ ขาดสติ ก่อให้เกิดอุบัติเป็นอันตรายต่อผุ้อื่นอีกด้วย นอกจากนั้นผู้ชายที่เสเพลคบหาผู้หญิงไม่ดีก็มีแต่ทางเสีย ดังนั้นการเล่นพนันม้าแข่ง การเล่นไพ่ การดื่มสุรา และการเที่ยวผู้หญิง ทั้ง 4 อย่างนี้ แม้จะทำให้ได้รับความสนุกสนานหรือมีความสุขแต่ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ผลสุดท้าย ที่ติดสิ่งเหล่านี้จนถอนตัวไม่ขึ้นต่างก็พบกับความหายนะทั้งสิ้นสำนวน “สุรา พาชี นารี กีฬาบัตร” จึงหมายถึง อบายมุขเป็นสิ่งที่ให้โทษควรหลีกเลี่ยงให้ไกล
ในการแข่งม้าเพื่อพนันขันต่อ ผู้เล่นมักคาดว่าม้าตัวใด จะเข้าเส้นชัยก่อน การคาดคะเนก็ดูจากประวัติของม้าว่า ม้าตัวใดมีฝีเท้าดีเคยแข่งชนะมาแล้ว ส่วนใหญ่ผู้เล่นจะแทงม้าตัวที่คาดคะเนว่าจะชนะ แต่บางครั้งม้าตัวที่ไม่มีใครคาดคะเนว่าจะชนะ แต่บางครั้งม้าตัวที่ไม่มีใครคาดหมายว่าจะชนะ กลับวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก เรียกว่าม้ามืด สำนวนว่า “ม้ามืด” มักใช้ในการแข่งขันหรือการประกวดประชันและหมายถึงผู้ที่ชนะโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หรืออาจหมายถึง สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมายหรือนึกฝันมาก่อน
ผู้หญิงสมัยก่อนจะได้รับการอบรมให้มีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย ผู้ที่มีกิริยาท่าทางไม่เรียบร้อย มักถูกตำหนิติเตียน และถูกเปรียบเทียบเป็นสำนวนว่า “ม้าดีดกะโหลก” ซึ่งหมายถึง มีกิริยาท่าทางกระโดกกระเดก ผลุบผลับลุกลี้ลุกลน ไม่เรียบร้อย สำนวนม้าดีดกะโหลกนี้มักใช้ในการตำหนิผู้หญิง
มีการนำกิริยาที่ไม่น่าดูมาเทียบกับม้าอีกอย่างหนึ่ง คือ หน้าเป็นม้าหมากรุก เป็นการนำเอาตัวหมากที่ใช้ในการเล่นหมากรุก ซึ่งแกะเป็นรูปส่วนหัวของม้าขดงอให้อยู่ในท่าเหมาะที่จะเป็นตัวหมาก ดูลักษณะเป็นม้าหน้างอจึงเปรียบคนที่โกรธและทำอาการหน้างอว่า “หน้าเป็นม้าหมากรุก” ใช้ได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง สำนวนเกี่ยวกับม้าที่มาจากการเล่นหมากรุกอีกสำนวนหนึ่งคือ “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” การเล่นหมากรุกคล้ายการจำลองการสู้รบมาแข่งขันกันบนกระดานที่ตีเป็นตารางใช้ตัวหมากที่จำลองมาจากสิ่งหลักๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้ เช่น ตัวขุน ตัวม้า ตัวเรือ เป็นต้น หมากแต่ละตัวมีวิธีการเดินที่แตกต่างกัน เช่น ตัวม้าเดินทะแยง ส่วนเรือเดินตายาวไปได้จนสุดกระดาน ในขณะเล่นหมากรุกถ้าไม่สังเกตตาซึ่งตัวม้าหรือตัวเรือที่อีกฝ่ายหนึ่งเดินให้ดีเสียก่อน เดินหมากของตนในถูกตาที่ตัวม้าหรือตัวเรือของฝ่ายตรงข้ามสกัดอยู่ ก็ต้องเสียตัวหมากของตนไป การเล่นหมากรุกจึงต้องดูตาม้าตาเรือของกันและกันให้ดี จึงเกิดเป็นสำนวน “ดูตาม้าตาเรือ” หมายถึง ต้องสังเกตระมัดระวังพินิจพิเคราะห์ให้ดีก่อนที่จะทำสิ่งใด และขยายความไปถึงการพูดด้วย หากไม่ระมัดระวังคำพูดอาจพลาดพลั้งได้สำนวนนี้ใช้ได้ทั้งกรณีเตือนให้ดูตาม้าตาเรือและในกรณีของการกล่าวว่า “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” ก็ได้
ม้าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในสนามรบ สนามแข่งขัน ผู้อยู่บนหลังม้าจะใช้อาวุธ เช่น ดาบ ทวน ต่อสู้กันเป็นเพลงในพจนานุกรมให้ความหมายของเพลงไว้อย่างหนึ่งว่ากระบวนวิธีระดาบรำทวน กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาไทยได้ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่าเรื่องกระบวนรบที่นับเป็นเพลงหนึ่งเพลงนั้นกำหนดได้หลายแบบ เช่น อาจเป็นการที่ฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธตีแทงหรือฟันลงไปทีหนึ่งและอีกผ่ายรับถือเป็นเพลงหนึ่งเพลง หรืออาจมีการกดอาวุธผลัดกันพลิกไปมาแล้วแต่ใครจะมีกำลังข้อดีกว่ากัน ในขณะรบใครตี ฟัน แทง ได้ครั้งหนึ่งก็นับเป็นเพลงหนึ่ง คู่ต่อสู้ที่มีฝีมืออาจรบกันเป็นร้อยเพลง แต่ผู้ไร้ฝีมือจะสู้กันเพียงสองสามเพลงก็ถูกฟันถูกแทงตกจากหลังม้า จึงเกิดสำนวนว่า “สองเพลงตกม้าตาย” หรือ “สามเพลงตกม้าตาย” หมายความว่า แพ้งาย สู้กัน ประเดี๋ยวประด๋าวก็แพ้เสียแล้ว เป็นการต่อสู้ที่แพ้เร็วยุติเร็วไม่ยืดเยื้อ
ยังมีสำนวนสั้น ๆ เกี่ยวกับม้าอยู่อีกสองสามสำนวนคือ “หน้าม้า” ซึ่งเป็นคนละสำนวนกับ “หน้าเป็นม้าหมากรุก” หน้าม้า หมายถึง ผู้แสร้งแสดงอาการชื่นชอบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกคล้อยตาม ทำหน้าที่คล้ายนายหน้าในธุรกิจต่าง ๆ ใช้ในความหมายไม่ค่อยดีนัก อีกสำนวนหนึ่งคือ “ม้าอารี” หมายถึง ผุ้ที่ใจดีช่วยเหลือผู้อื่นจนตนเองได้รับความเดือดร้อน ส่วนสำนวน “ม้าเร็ว “ หมายถึง คนส่งข่าว ในสมัยโบราณมักใช้ม้าเร็วในการส่งข่าวเกี่ยวกับการศึก และอีกสำนวนหนึ่งคือ “ม้าใช้” หมายถึง คนรับใช้ มักใช้ในความหมายไม่ดีนัก
สำนวนว่า “ปล่อยม้าอุปการ” ที่มีมาวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ภาคปลาย เมื่อพระมงกุฎโอรสของพระรามกับนางสีดา และพระลบกุมารที่ฤาษีชุบขึ้นมา ทั้งสองพากันไปลองยิงศร โดยยิงต้นรังใหญ่ล้มลงเกิดเสียงดังสนั่น พระรามได้ยินก็เข้าใจว่าจะมีผู้มาแข่งฤทธิ์ด้วยโหรแนะนำให้พระรามปล่อยม้าอุปการ โดยแขวนกล่องพระราชสารไว้ที่คอม้าปล่อยม้าให้วิ่งไปและให้หนุมานซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาอนุชิตพร้อมทั้งพระพรตและพระสัตรุดสะกดรอยตามไป ข้อความในพระราชสารเขียนไว้ว่า นี้เป็นของพระรามหากใครพบและจงรักภักดีต่อพระราม ก็ให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาแต่ถ้าใครบังอาจขึ้นข้าก็ให้สะกดรอยตามจับมาประหารเสีย สำนวนปล่อยม้าอุปการ จึงหมายถึง ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ใช้คนออกเที่ยวพาลหาเรื่องหรือก่อให้เกิดเรื่องเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น