วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ขออย่าพบพานเสือร้าย





บางครั้งพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดอาจคล้ายกัน ทำให้เกิดสำนวนที่คล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของสัตว์เท่านั้น เช่น สำนวนว่า “เสือสองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้” ซึ่งคนสมัยนี้เติมข้อยกเว้นของสำนวนนี้ไว้ว่า ยกเว้นจะเป็นเสือตัวผู้และเสือตัวเมีย แต่คนโบราณคงละไว้ในฐานที่เข้าใจจึงไม่กล่าวให้ยืดยาวเยิ่นเย้อ นอกจากนั้นคนสมัยก่อนยังเฝ้ามองพฤติกรรมของสัตว์อื่นแล้วได้ข้อสรุปว่า สัตว์มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันนี้ได้แก่ เสือ ราชสีห์ และจรเข้ จึงมีสำนวนที่มีความหมายที่คล้ายคลึงกันว่า “ราชสีห์สองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้”และ “จรเข้สองตัวอยู่ถ่ำเดียวกันไม่ได้” ทั้ง ๓ สำนวนนี้ หมายถึงคนมีอำนาจหรือมีอิทธิพลพอๆ กัน เป็นใหญ่เสมอกัน อยู่ร่วมกันไม่ได้ เหมือนสัตว์ทั้งสามชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย เชื่อมั่นในความยี่งใหญ่ของตนไม่มีใครยอมให้ผู้อื่นเป็นใหญ่เหนือตน
เสือกับแมวเป็นสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกันเพียงแต่แมวตัวเล็กและดุร้ายน้อยกว่าเสือ หากแต่ดูภาพภายนอกเวลาเสือทำท่าสงบนิ่งจะดูไม่น่ากลัวถ้าไม่รู้จักพฤติกรรมที่ดุร้ายของมัน สำนวนว่า “เสือเฒ่าจำศีล” เป็นการนำพฤติกรรมของเสือแก่ที่ทำท่าสงบเงี่ยมเหมือนคนถือศีลทำให้สัตว์ทั้งหลายตายใจว่าไม่มีพิษสง แต่เสือก็คือเสือ เมื่อได้จังหวะก็ยังตะครุบเหยื่อจับสัตว์กินเป็นอาหารเช่นเดิม สำนวนเสือเฒ่าจำศีลจึงหมายถึงคนที่ทำท่าสงบเสงี่ยม แต่อันที่จริงเจ้าเลห์เพทุบายมีเลห์เหลี่ยมมาก ความสงบเสงี่ยมที่เห็นภายนอกแป็นเพียงการกระทำตบตาให้ตัวเองบรรลุวัตถุประสงค์ได้สิ่งที่ต้องการเท่านั้นเอง นอกจากนั้นบางครั้งสำนวน“เสือเฒ่าจำศีล” อาจหมายถึงคนแก่ที่มีพิษสงแต่ไม่แสดงออกก็ได้
บางครั้งมีการนำเสือกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมคนละแบบมาสร้างเป็นสำนวน สัตว์ที่นำมากล่าวในที่นี้คือ สมัน สมันเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องคล้ายกวางป่า แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนสีน้ำตาล หางสั้น มีเขาแตกเขนงมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น แลดูสวยงามมาก สมันเป็นสัตว์ป่าสงวน เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว สมันไม่ใช่สัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร ไม่ดุร้าย ไม่มีพิษมีภัย ไม่เป็นที่เกรงกลัวเหมือนกับเสือ คนโบราณคิดเป็นสำนวนขึ้นมาว่า “เสือในร่างสมัน” หมายถึง คนร้ายที่ปลอมมาในร่างของคนดี ยังมีสำนวนที่เป็นเรื่องของเนื้อกับเสือ แต่มีความหมายต่างจากสำนวนแรก คือสำนวนว่า “หน้าเนื้อใจเสือ”หมายถึงมีหน้าตาที่แสดงความเมตตา แต่อันที่จริงแล้วใจร้าย ใจคอโหดเหี้ยม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หน้าตาดีใจคอโหดร้าย นั่นเอง
ปกติเนื้อเป็นอาการของเสือ ดังนั้นการฝากเนื้อไว้กับเสือจึงเป็นการฝากของไว้กับผู้ที่อยากได้ของสิ่งนั้น เนื้อย่อมตกเป็นอาหารของเสือได้โดยง่าย สำนวน “ฝากเนื้อไว้กับเสือ” จึงมีความหมายทำนองเดียวกับ “ฝากปลาไว้กับแมว”หรือ “ฝากปลาย่างไว้กับแมว” ซึ่งหมายความว่า ฝากสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น โอกาสที่จะสูญเสียของที่ฝากไว้ย่อมมีมาก หรือจะตีความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจนั่นเอง
สำนวนว่า “ฝากเนื้อไว้กับเสือ”และ “เนื้อเข้าปากเสือ” แม้จะดูคล้ายกันแต่มีความหมายต่างกันคือ “เนื้อเข้าปากเสือ” หมายความว่าตกอยู่ในที่อันตรายไม่มีทางที่จะรอดได้ มีแต่จะสูญเสียไป เหมือนเนื้อ (เนื้อสมัน) ที่อยู่ในปากเสือแล้วทางรอดมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ก็จะต้องถูกเสือกัดกินเสมอ นอกจากเสือแล้ว หมีก็เป็นสัตว์ดุร้าย ดังนั้น จึงมีสำนวนว่า “อยู่ในปากเสือปากหมี” หมายความว่า อยู่ในที่คับขัน อยู่ท่ามกลางอันตรายหรือตกอยู่ในอันตรายก็ได้ สืบเนื่องจากที่เนื้อ (เนื้อสมัน) ย่อมตกเป็นเหยื่อของเสือเสมอ จึงมีสำนวนเปรียบเทียบเกี่ยวกับเนื้อ (เนื้อสมัน) และเสืออีกสำนวนหนึ่ง คือ “เอาเนื้อสู้เสือ” หมายถึงเอาคนที่ไม่มีอำนาจไปสู้กับคนที่มีอำนาจ หรือให้คนฝ่ายหนึ่งที่มีอะไรๆ ด่อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไปสู้กับฝ่ายที่เหนือกว่าทุกกรณีย่อมไม่มีทางสู้กันได้ มีโคลงสุภาษิตเก่าแต่งเป็นกระทู้ เอา-เนื้อ-สู้-เสือ ไว้ว่า
เอา ตนปนด้วยเหล่า ตุโกง
เนื้อ ป่าเข้าปนโขลง พยัคฆ์ร้าย
สู้ พยัคฆ์จักตายโหง เองพ่อ เสือ
สบเนื้อจักย้าย ห่อนร้ายร้าย ฤๅมี
โคลงสุภาษิตบทนี้เข้าใจง่าย กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาของไทยนำมายกเป็นตัวอย่างประกอบสำนวนไว้ในหนังสือสำนวนไทย การเปรียบเนื้อ (เนื้อสมัน) กับเสือ เป็นการเปรียบของคู่กรณีที่มีฝีไม้ลายมือแตกต่างกันอย่างลิบลับ แต่ถ้ากล่าวถึงผู้ที่มีฝีไม้ลายมือ มีความสามารถ มีชั้นเชิงพอๆ กัน ก็มีสำนวนเปรียบไว้อย่างชัดเจนอีกเช่นกันว่า “สิงห์พบเสือ” หรือ “เสือพบสิงห์”
ในสำนวนไทย เสือมักเป็นตัวแทนของความดุร้าย ความมีอำนาจ และหมายถึงคนใหญ่คนโตอีกด้วย เวลาเสือต่อสู้กันต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณนั้นย่อมเสียหายไปด้วย โดยเฉพาะต้นหญ้าต้องโดนย่ำโดนเหยียบแล้วเหยียบอีก คนโบราณช่างคิดและช่างเปรียบ จึงเปรียบหญ้าแพรกกับผู้น้อยหรือคนธรรมดาสามัญ และกล่าวเป็นสำนวนว่า “เสือสูกันหญ้าแพรกแหลก”หรือ“เสือสู้กันหญ้าแพรกแหลกลาญ” สำนวนนี้มักใช้ในทางการเมืองการปกครอง คือถ้าผู้มีอำนาจ ผู้ยิ่งใหญ่ หรือผู้ปกครองประเทศวิวาทสู้รบหรือแย่งชิงอำนาจกัน บรรดาผู้น้อยหรือราษฎรก็พลอยได้รับผลกระทบ พลอยเดือดร้อนไปด้วย อันที่จริงแล้วสำนวนนี้ไม่เพียงใช้ได้ในวงการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เตือนสติผู้บริหารระดับอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
ผู้ที่เคยเห็นและสังเกตอากัปกิริยาของเสือ ไม่ว่าจะเป็นเสือจริงๆ ที่อยู่ในกรง หรือเสือในภาพยนต์สารคดีต่างๆ จะเห็นการเดินของเสือที่เยื้องย่าง ดูสง่างาม มีหางลาดทอดยาวมันจะเดินไปเรื่อยๆ ไม่ได้แสดงอาการดุร้าย แต่พอได้จังหวะก็จะเข้าโจมตีเหยือทันที มีการนำเอาอาสกัปกิริยาเช่นนี้มากล่าวเป็นสำนวนว่า “เสือลากหาง”หมายถึงคนทีทำกิริยาเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้เป็นอุบายทำให้คนอื่นตายใจ พอได้ทีก็จู่โจมเข้าทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยผู้อื่นไม่ทันรู้ตัว
นอกจากนั้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของสำนวน“เสือลากหาง” ไว้อีกอย่างหนึ่งว่าหมายถึงคนที่ทำท่าทางอย่างเสือลากหางขู่ให้ผู้อื่นกลัว ความหมายหลังนี้มีที่ใช้น้อย แต่ก็มีกล่าวไว้ในบทละครเรื่อสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แสดงท่าทางของเจ้าเงาะไว้ว่า
เห็นพี่เมียชำเลืองค้อน
ก็ฉุดเมียมาสออนให้ค้อนบ้าง
ถือไม้เท้าก้าวเดินเป็นท่าทาง
ทีเสือลากหางให้น่ากลัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น