วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย จระเข้และตุ๊กแก





สำนวนว่า “กินปูนร้อนท้อง” นั้น ว่ากันว่ามากจากตุ๊กแกที่เมื่อกินปูนเข้าไปแล้วร้อนในท้องจนต้องร้องออกมา ส่วนทำไมต้องกินด้วยล่ะ ก็ยังไม่มีใครตอบได้ สำนวนนี้ใช้ในโอกาสที่มีผู้เดือดเนื้อร้อนตัวเมื่อมีใครมาพูดถึงความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่รู้ตัวผู้ทำผิด แต่ผู้นั้นก็ร้อนตัว ออกมาปฏิเสธพัลวันจนทำให้เข้าใจว่าผู้นั้นเองเป็นผู้กระทำ


ส่วน จระเข้ มาพร้อมกับ เสือ ในสำนวนว่า “หนีเสือปะจระเข้” ชาวกรมประชาสัมพันธ์ที่ติดตามคอลัมน์พูดไทยเขียนไทย มาตั้งแต่สำนวนไทยให้แง่คิด ชุด สำนวนไทยที่เกี่ยวกับสัตว์สิบสองราศีคงจำได้ว่า เสือ นั้นเคยปรากฏตัวมาแล้วครั้งหนึ่งเป็นสุตว์สัญลักษณ์ปีขาล ทั้งเสือและจระเข้เป็นสัตว์ทีทำอันตรายมนุษย์ทั้งคู่ สำนวนนี้จึงหมายความว่า หนีอันตรายอย่างหนึ่งแล้วต้องพบกับอันตรายอีกอย่างหนึ่ง


อีกสำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงจระเข้ คือ “สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ” จระเข้นั้นเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ คืออยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบกจึงไม่จำเป็นตรงไปสอนในสิ่งที่จระเข้เก่งและชำนาญอยู่แล้ว สำนวนนี้หมายความว่า สอนในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วชำนาญอยู่แล้ว


ปิดท้ายกับสำนวน “จระเข้ขวางคลอง” ในสมัยก่อน แม่น้ำลำคลองยังมีจระเข้ชุกชุม ถ้าชาวบ้านพายเรือไปในคลองแล้วพบจระเข้นอนขวางอยู่ก็จำเป็นต้องหยุดเรืออยู่ตรงนั้น พายเรือต่อไปไม่ได้ สำนวนนี้จึงหมายถึง มีอุปสรรคมีสิ่งกีดขวางการทำงาน ใช้กล่าวตำหนิผู้ที่ชอบกันท่าผู้อื่นไม่ให้ทำงานทำการได้โดยสะดวก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น