วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ป.ปลานั้นหายาก


สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งแสดงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเราเมืองเรามาแต่อดีต ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ว่า “...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...” ปลาจึงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างแยกไม่ออก รวมทั้งยังเข้ามาอยู่ในสำนวนไทยหลายสำนวนอีกด้วย เช่น ฝนสั่งฟ้าปลาสั่งหนอง ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาหมอตายเพราะปาก งูๆ ปลาๆ จับปลาสองมือ เกลียดตัวกินไข่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ฯลฯ
เริ่มที่สำนวน ฝนสั่งฟ้าปลาสั่งหนอง มาจากฝนที่ตกลงมาก่อนที่จะหมดฤดูฝนและมักเป็นฝนที่ตกลงมาหนักเสียด้วย ส่วนปลาก็ต้องเตรียมย้ายจากหนองน้ำที่เคยอยู่เพราะน้ำกำลังจะแห้งไปอยู่หนองน้ำอื่น สำนวนฝนสั่งฟ้าปลาสั่งหนอง ใช้ในความหมายว่า การกระทำเป็นครั้งสุดท้ายก่อนลาจากกัน
ถัดมาเป็นสำนวน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ถ้าอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ก็ต้องบอกว่า เป็นวงจรชีวิตของสัตว์ทั่วไปที่ปลาตัวใหญ่ย่อมต้องกินปลาตัวเล็กเป็นอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่ถ้ามาเป็นสำนวนเปรียบเทียบกับคนแล้วกลับกลายเป็นการแสดงความเอาเปรียบข่มเหงรังแก คนที่ตัวใหญ่กว่าชอบข่มแหงรังแกคนที่ตัวเล็กกว่า สำนวนปลาใหญ่กินปลาเล็ก ใช้ในความหมายว่า คนที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ที่ชอบข่มแหงหรือรังแกผู้น้อยหรือผู้ที่อ่อนแอกว่า
ต่อมาอีกสำนวน คือ ปลาหมอตายเพราะปาก สำนวนนี้มาจากธรรมชาติของปลาที่ชอบผุดจากน้ำขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ปลาหมอเป็นปลาที่คนนิยมกินเพราะขนาดตัวกำลังดี และที่สำคัญปลาหมอชอบผุดขึ้นมาเล่นน้ำอย่างชุกชุมในบริเวณที่คนสังเกตเห็นได้ ก็เลยไม่ต้องเสียเวลามาก หย่อนเบ็ดที่ปลาหมอชอบผุดขึ้นมา ก็ได้ปลาหมอมาทำอาหารอย่างแน่นอน สำนวนปลาหมอตายเพราะปากนี้ จึงใช้เปรียบกับคนที่พูดมาก อาจตายเพราะปากได้ หรือ หมายถึง คนที่ชอบพูดพล่อยๆ จนตัวเองได้รับความเดือดร้อน
ส่วนสำนวน งูๆ ปลาๆ อาจจะเกิดจากลักษณะของงูกับปลาไหลที่มีลำตัวยาวๆ คล้ายกัน คนที่ไม่สังเกตก็อาจจะแยกความแตกต่างของงูกับปลาไหลไม่ค่อยได้หรืออาจจะแค่แยกได้ว่าตัวนี้เป็นงูตัวนี้เป็นปลาไหลเท่านั้นเอง จึงเรียกว่ารู้แบบงูๆ ปลาๆ รู้นิดหน่อยเท่านั้นเอง ส่วนสำนวนงูๆ ปลาๆ ใช้ในความหมายว่า มีความรู้เพียงเล็กน้อยหรือรู้ไม่จริงจะทำสิ่งใดทำอะไรก็ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่
สำหรับสำนวน จับปลาสองมือ สำนวนนี้มาจากการจับปลาที่หมายถึงการใช้มือทั้งสองข้างจับปลาตัวเดียวซึ่งจะจับได้แน่น ปลาก็ไม่สามารถดิ้นหลุดไปได้ แต่จับปลาสองมือ สำนวนนี้ หมายถึง ใช้มือขวาจับปลาหนึ่งตัวและใช้มือซ้ายจับปลาอีกหนึ่งตัว อาจจะเป็นเพราะความโลภที่อยากได้ปลาสองตัวพร้อมๆ กัน ท้ายที่สุดปลาก็ดิ้นหลุดมือไปทั้งสองตัว สำนวนจับปลาสองมือนี้ ใช้ในความหมายว่า การทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน อาจจะได้ผลไม่เต็มที่หรือออาจจะไม่ได้ผลเลย มักใช้ตำหนิคนที่จับงานโน้นทีจับงานนี้ที อาจเกิดความเสียหายกับงานได้ไม่มีงานใหนสำเร็จซักงานเดียว
ปิดท้ายสำนวนไทยที่เกี่ยวกับปลา เกลียดตัวกินไข่เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง มาจากบางคนที่ไม่ยอมกินปลาไหลเพราะเกลียดที่ปลาไหลมีลักษณะเหมือนงู แต่ถ้าเอาปลาไหลมาแกงก็สามารถตักน้ำแกงมาซดกินได้หน้าตาเฉย เพราะน้ำแกงจากปลาไหลนั้นรสชาติอร่อยแม้จะไม่ชอบตัวปลาไหลแต่ก็กินน้ำแกงปลาไหลได้ สำนวนนี้ใช้ในกรณีที่เกลียดหรือไม่ชอบสิ่งใด แต่ก็ยังไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น เพราะตัดไม่ขาดจริงเหมื่อนเกลียดปลาไหลแต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะซดน้ำแกงจากปลาไหล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น