วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ก.ไก่ ปีระกา




ปีระกา ถ้าเรียกอย่างชาวบ้านก็คือ ปีไก่ ไก่ เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดคนไทยมา เป็นเวลานาน ดังนั้น คนไทยจึงสังเกตพฤติกรรมของไก่และนำมาเป็นสำนวนหลายสำนวนด้วยกัน เมื่อไก่โก่งคอส่งเสียงเราเรียกว่า ไก่ขัน คนต่างชาติต่างภาษา ต่างสังคม ฟังเสียงไก่ขันแตกต่างกันไป คนเยอรมันฟังเสียงไก่ขันเป็น "กิ๊กกะริกกี้" คนอังกฤษฟังเป็น "ค้อกอะดูเดิ้ลดู" แต่คนไทยกลับฟังเป็น "เอ็กอี่เอ็กเอ้ก"


สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมเลี้ยงเช่นเดียวกันกับไก่จนพูดกันติดปากว่าเป็น "เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่" จนเป็ดกับไก่ดูจะเป็นสัตว์ที่คู่กัน ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน จะด้อยกว่ากันก็ตอนขัน เพราะเป็ด ขันไม่ได้เหมือนไก่ จึงเกิดสำนวนว่า "เป็ดขันประชันไก่" ซึ่งหมายถึง การเอาสิ่งที่ด้อยกว่าไปประชัน กับสิ่งที่ดีกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าหาสิ่งที่ดีเลิศไม่ได้ก็ต้องเอาสิ่งที่ด้อยกว่าไปประชัน เป็นการแก้ขัด ให้คนอื่นเห็นว่าเราก็มีเหมือนกัน


ไก่เป็นสัตว์ตื่นเช้า ดังนั้นจึงมีการเอาพฤติกรรมของไก่มาเป็นการบอกเวลาในสมัยก่อน ไก่ จะขันตั้งแต่เวลาเช้ามืดพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น จึงเกิดสำนวนบอกเวลาไก่ขัน คือเวลาเช้าตรู่ หรือรุ่ง สาง แต่ถ้าจะพูดให้ได้อารมณ์และเห็นภาพมักใช้สำนวน "ไก่โห่" ความหมายเช่นเดียวกัน มาแต่ไก่โห่ คือมาแต่เช้าตรู่นั่นเอง


อีกสำนวนคือ "มาก่อนไก่" น่าจะยิ่งเช้ามากกว่าก่อนเวลาไก่ขัน ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง ศรี ธนญชัย ซึ่งรู้จักกันดีกล่าวถึงตัวเอกของเรื่อง คือ ศรีธนญชัย ใช้ไหวพริบแก้ตัวกับพระเจ้าแผ่นดิน เวลาที่มาเข้าเฝ้าสาย โดยเอาไก้ผูกก้นให้ไก่เดินตามหลังมาและกราบทูลว่า ตนมาก่อนไก่ จึงเกิด สำนวนล้อแกมประชดประชันคนที่มาสายว่า "เอาไก่ผูกก้นมาหรือเปล่า"


พฤติกรรมของไก่ไม่ได้มีแต่การขันตอนเช้าตรู่เท่านั้น เวลากลางวันไก่จะคุ้ยเขี่ยหากินตาม พื้นดิน พอตกเย็นพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า ไก่มักบินขึ้นไปนอนบนที่สูงบางตัวอาจจะเกาะกิ่งไม้ ใช้กิ่งไม้เป็นรัง หรือคนเลี้ยงอาจจะสร้างรังให้ไก่ในที่ยกพื้นสูง เมื่อเวลาหมดแสงอาทิตย์ และไก่บิน ขึ้นไปบนรัง จึงเกิดสำนวนบอกเวลา "ไก่ขึ้นรัง" ซึ่งหมายถึงเวลาพลบค่ำนั่นเอง


ปกติไก่จะคุ้ยเขี่ยอาหารทั้งวัน หากดูบนพื้นดินบริเวณที่ไก่หากินจะมีรอยเท้าที่ไก่ย้ำและ รอยการคุ้ยเขี่ยหาอาหารยุ่งเหยิงไปหมด จึงมีสำนวนเปรียบเทียบคนที่เขีนยนหนังสือหวัดลายมือยุ่ง เหยิงอ่านยากหรืออ่านไม่ออกว่า "ลายมือเหมือนไก่เขี่ย" อาหารที่ไก่คุ้ยเขี่ยหากินบนพื้นดินก็คือ เมล็ดพืช ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือแมลงตัวเล็กๆ แต่ถ้าไก่บังเอิญคุ้ยเขี่ยไปพบของมีค่าเช่น เพชร พลอย ที่ตกจากร่องกระดานของบ้านเรือนลงมาอยู่ที่พื้นดินใต้ถุนบ้าน ไก่จะเห็นว่าไร้ค่าไม่สามารถใช้ เป็นอาหารได้จึงเกิดสำนวน "ไก่ได้พลอย"


ไก่ชอบกินข้าวเปลือกเป็นอาหาร จึงเกิดสำนวน "ตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือก ตราบนั้น คุณก็ยังกินสินบน" เมื่อตัดข้อความให้สั้นเข้าเหลือเป็นสำนวนว่า "ไก่กินข้าวเปลือก" จึงหมายถึงการ กินสินบนไปโดยปริยาย พฤติกรรมที่น่าสนใจของไก่อีกอย่างหนึ่งคือ ไก่สามารถบินได้ แต่ก็ไม่ สามารถบินได้สูงหรือไกลเหมือนนก การที่ไก่บินได้ในระยะสั้นๆ นี้เองทำให้เกิดสำนวนว่า "ไก่บินไม่ ตก" เป็นการกล่าวถึงบริเวณที่ปลูกบ้านกันอย่างหนาแน่นหลังคาบ้านแต่ละหลังชนกัน เกยกัน จนไก่ ซึ่งบินได้ในระยะสั้นๆ ก็ยังบินไม่ตก


นอกจากจะเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อกินไข่แล้ว คนไทยยังสังเกตพฤติกรรมของไก่พื้นบ้านตัวผู้ว่ามักมีการจิกตีต่อสู้กันอยู่บ่อยๆ อาจเป็นเพราะต้องการอำนาจเป็นจ่าฝูง ต้องการครอบครองตัวเมีย ต้องการครอบครองอาณาจักรหาอาหารของตน หรือจะเขม่นกันเองเป็นการส่วนตัวก็เหลือจะเดา ด้วยความที่ไก่พื้นเมืองตัวผู้มีเลือดนักสู้เข้มข้นนี้เอง คนจึงหาความสนุดสนานด้วยการจับไก่มาชนกันเกิดเป็นกีฬาชนไก่ และมักมีการพนันขันต่อว่าไก่ตัวใดจะชนะ เมื่อเป็นเรื่องของการพนันก็ต้องมีการฝึกไก่ของตนให้แข็งแรงและเชี่ยวชาญในการต่อสู้แล้วนำไก่ไปยังสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประลองความสามารถของไก่เรียกว่า "บ่อน" ก่อนชนจะต้องนำไก่มาเปรียบกันก่อน การเปรียบจะดูกันหลายอย่าง เช่น ขนาดตัว ข้อลำ น้ำหนัก และเดือย เป็นต้น ต้องดูว่าพอเหมาะพอสมกัน เจ้าของไก่จึงจะพอใจให้ไก่ชนกัน แต่ถ้าเปรียบแล้วหาคู่ชนไม่ได้ หากต้องการให้มีการแข่งขันก็อาจนำไก่ของทางบ่อนลงชน จึงเกิดสำนวนว่า "ไก่รองบ่อน" ซึ่งย่นย่อมาจาก "ไก่สำรองบ่อน" หมายถึง การเป็นตัวสำรองนั่นเอง


ในการชนไก่ นอกจากไก่จะใช้ปากจิก ปีกกระพือตีกันแล้ว ยังมีการกระพือปีกยกตัวแล้วเอาหน้าแข้งตี อาวุธที่สำคัญคือ เดือยที่แข้งไก่ ซึ่งจะใช้แทงคู่ต่อสู้จนบาดเจ็บ ถ้าแทงถูกตาโดยตรงตาจะแตก ไก่ตัวที่ตาแตกมักยืนงง อาจจะเป็นเพราะมองไม่เห็น หรือเจ็บปวดบาดแผลที่ตาก็ตามแต่ จึงเกิดเป็นสำนวนว่า "งงเป็นไก่ตาแตก" เปรียบเทียบกับอาการของคนที่ทำอะไรไม่ถูกเมื่อตกอยู่ในสถาณการณ์ใดสถาณการณ์หนึ่ง เมื่อไก่ตาแตกบางครั้งก็จะมีการเย็บเปลือกตาให้บาดแผลปิด ไม่ให้ร่องแร่งเหวอะหวะ "การสู้เย็บตา" จึงเป็นสำนวน หมายถึง สู้จนถึงที่สุด ไม่ถอย ไม่ย่อท้อ ต่อมาสำนวนนี้ได้แปรมาเป็น "สู้ยิบตา" ในปัจจุบันจะได้ยินสำนวน "สู้ยิบตา" มากกว่า "การสู้เย็บตา" แบบดั้งเดิม สำนวนคาวมเปรียบเทียบกับไก่ยังมีที่น่าสนใจอีกหลายสำนวน อย่าง "ไก่อ่อน" หมายถึงผู้อ่อนหัดยังไม่ชำนาญ ยังสู้เขาไม่ใคร่ได้ เมื่อมีสำนวนเกี่ยวกับ "ไก่อ่อน" แล้ว ก็มีสำนวนเกี่ยวกับไก่แก่ คือ "ไก่แก่แม่ปลาช่อน" ใช้เปรียบกับหญิงมีอายุที่ช่ำชอง มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ นานา สำนวนนี้ กาญจนาคพันธุ์ ได้สันนิษฐานไว้ว่า เดิมน่าจะเป็น "กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน" เพราะมีกล่าวอยู่ในวรรณกรรมเก่าๆ หลายเรื่อง เช่น บทพระราชนิพนธ์คาวีในรัชกาลที่สองกล่าวไว้ว่า "ไม่พอทีตีวัวกระทบคราด สัญชาติกระต่ายแก่แม่ปลาช่อน แสร้งสบิ้งสะบัดตัดรอน จะช่วยสอนให้ดีก็มิเอา" หรือในเรื่องพระอภัยมณีก็กล่าวว่า " กระต่ายแก่แต่ละคนล้วนกลมาก ทั้งฝีปากเปรื่องปราชญ์ฉลาดเฉลียว"


เมื่อสังเกตธรรมชาติของกระต่าย ยามเล็กจะดูร่าเริงน่ารัก แต่พออายุมากเข้าจะดุ เช่นเดียวกับแม่ปลาช่อนตามธรรมชาติไม่ทำอันตรายคน แต่ถ้าเป็นแม่ปลาวางไข่จะดุมากถึงกับกัดคนตาย จึงเปรียบหญิงที่อายุมากและมีเล่ห์เหลี่ยมมากว่า "กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน" ต่อมาเพี้ยนจากกระต่ายเป็นไก่ อาจจะเป็นเพราะเสียงคล้ายกัน และคำว่า "ไก่" ออกเสียงสั้นกว่าก็เป็นได้


ไก่เป็นสัตว์ตัวเล็ก จึงเชื่อว่าไก่มีน้ำลายน้อยมาก น้อยเหลือเกิน คนโบราณจึงใช้สำนวนเปรียบว่าเท่า "น้ำลายไก่" แม้น้ำลายไก่จะน้อยมากจนแทบไม่มีใครเห็น แต่ขี้ไก่เป็นสิ่งที่คนเห็นกันทั่วไป เพราะไก่จะคุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นดิน ขณะเดียวกันก็ถ่ายของเสียไปเรื่อยๆ ขี้ไก่มีขนาดไม่ใหญ่โต บางครั้งเมื่อคนเดินผ่านอาจไม่ทันสังเกตเห็นจึงเหยียบไปโดยไม่รู้ตัว สำนวน "ไม่ใช่ขี้ไก่" จึงเกิดขึ้นหมายถึงไม่ใช่สิ่งที่เหยียบย่ำได้ง่ายๆ เหมือนขี้ไก่ ไม่ใช่สิ่งเลวทรามต่ำช้า ไม่ใช่สิ่งที่เลว จะถูกดูหมิ่นไม่ได้ง่ายๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น