ภาษาไทยมีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาเป็นแบบแผนที่ดีงาม มีการพูด การอ่าน และการเขียนซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ภาษาไทยมีวิวัฒนาการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การใช้ภาษาสมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ตัวหนังสือ ไทยโดยตัดพยัญชนะ ตัวสระที่มีเสียงซ้ำออกโดยมีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย นอกจากปรับปรุงตัวอักษรแล้วยังได้มีการยกเลิกตัวเลขไทยและนำเลขอารบิกมาใช้แทน โดยมีประกาศราชกิจจานุ เบกสา (ษา) ๒๔ พรึกส จิกายน (พฤศจิกายน) ๒๔๘๕ ว่าทางราชการให้ใช้เลขสากล (เลขอาหรับ) เป็นเลขไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อทั่วไป
เนื่องจากบ้านเมืองในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงครามอยู่ในภาวะสงคราม ประชาชนจะต้องอยู่ในระเบียบวินัยให้ความเลื่อมใสเชื่อถือรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่จะนำชาติบ้านเมืองให้ปลอดภัย และมี ความเจริญรุ่งเรืองไปสู่การเป็นมหาอำนาจ คนไทยจะต้องมีวัฒนธรรมเลิกนุ่งผ้าโจงกะเบน เลิกกินหมากพูล ใส่กระโปรงแทนผ้าถุง และผ้าโจงกระเบน และคนไทยต้องสวมหมวก ข้าราชการจะต้องรำวงและมีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้นให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม ในการฟื้นฟูสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ด้านภาษาไทยก็ต้องมีการรื้อฟื้นปรับปรุงในด้านหนังสือและภาษา ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ในรูปตัวหนังสือไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปไปมาก แต่ตัดตัวพยัญชนะ ตัวสระที่มีเสียงซ้ำกันออก ซึ่งคณะกรรมการ ส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยในยุคนั้นได้ประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมออกมาอีกเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน จึงสรุปหัวข้อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้
- ตัดอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออก โดยตัด ฃ ฃ ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ และฬ ออกไปเลย สระก็ตัด ใ ฤ ฤา ฦ ฦา ออก ถือว่าตัวหนังสือไม่มีใช้แล้วก็ไม่กระทบกระเทือนการใช้ภาษาไทยจึงเอาออกได้ ดังนั้นตัวหนังสือไทยยังคงเหลือตัวอักษรเพียง ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ บ ย ร ล ว ส ห อ ฮ ตัวที่ตัดออกไปนั้นให้ใช้คำที่เสียงพ้องกันที่เหลือแทน เช่น ส แทน ศ ษ น แทน ณ ด แทน ฎ เป็นต้น
- ตัว ญ นั้นโดยทั่วไปให้เขียนโดยใช้ตัว ย แทน แต่ในกรณีต้องเขียนคำบาลีหรือสันกฤต ให้ใช้ตัว ญ ได้ แต่ได้ตัดเชิงตัว ญ ออก คงมีรูปเพียง ญ เช่น ผู้หญิง เป็น ผู้หยิง ใหญ่ เป็น ไหย่ เป็นต้น
- ตัวกล้ำ ทร ที่ออกเสียงเป็น ซ ให้ใช้ตัว ซ เขียนแทน เช่น ทราบ เป็น ซาบ ทรุดโทรม เป็น ซุดโซม ทราย เป็น ซาย ทรัพย์ เป็น ซับ ทรวง เป็น ซวง
- ตัว ย ที่ อ นำให้เปลี่ยนเป็น ห นำ เช่น อยู่ อย่าง อย่า อยาก เขียนเป็น หยู่ หย่าง หย่า หยาก
- หลักทั่วไปใช้คำบาลีแทนสันสกฤต เช่น กัน ธัม นิจ สัจ แทน กรรม ธรรม นิตย์ สัตย์ เว้น แต่คำที่ใช้รูปบาลีมีความหมายหนึ่ง และสันสกฤตในรูปอีกความหมายหนึ่ง คงใช้ทั้งสองคำ แต่เปลี่ยน รูปการ เขียนตามอักษรที่เหลืออยู่ เช่น มายา เป็น มารยา วิชชา เป็น วิชา วิทยา, กติกา, กริสตีกา , สัตราวุธ (ศาสตราวุธ), สาสตราจารย์ (ศาสตราจารย์), วิทยาสาสตร์ (วิทยาศาสตร์) และ สูนย์กลาง (ศูนย์กลาง)
- ร หัน ในแม่ กก กบ กด กม ยกเลิกใช้ไม้หันอากาศแทน เช่น อุปสัค วัธนา บัพ กัมการ แต่ ร กันในแม่กน ยังคงมีใช้ได้ เช่น สรรค (อุปสรรค), บรรพบุรุส (บรรพบุรษ) ,วรรนคดี (วรรณคดี) เป็นต้น
คำที่มาจากบาลี ถ้าตัวสะกดมีอักษรซ้ำ หรืออักษรซ้อน ในกรณีตัวหลังไม่มีสระกำกับ ให้ตัดตัวสะกดตัวหน้าเสีย เช่น อัตภาพ (อัตตภาพ) หัถกัม (หัตถกรรม) ทุข (ทุกข์) อัคราชทูต (อัคคราชทูต) รัถบาล (รัฐบาล) เสถกิจ (เศรษฐกิจ) แต่ถ้าตัวหลังมีสระกำกับไม่ต้องตัดตัวสะกด เช่น อัคคี สัทธา(ศรัทธา)
- ไม้ไต่คู้ ใช้เฉพาะในกรณีต้องการให้ออกเสียงสั้น เช่น เม็ด เล็ก เย็บ เห็น ถ้าไม่ใช้อาจมี ความหมายเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ จะเขียน “ เปน ” ส่วนคำที่ไม่ได้ออกเสียงสั้นจริง เช่น กะหรอมกะแหรม ตะเบง ไม่มีไม้ไต่คู้ คำที่มาจากบาลีสันสกฤต ก็ไม่มีไม้ไต่คู้ เช่น เบญจ เพชร เวจ คำต่างประเทศที่จำเป็นให้คงใช้ได้ เช่น เช็ค
- คำ “ กระ ” ให้เขียนเป็น “ กะ ” เช่น กระจ่าง กระทิ เป็น กะจ่าง กะทิ
- คำที่ถอนมาจากคำต่างประเทศให้เขียนตามเสียงเป็นหลัก เช่น ตำรวจ เป็น ตำหรวด กำธร เป็น กำทอน
เมื่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีการปฏิบัติการเขียนหนังสือไทย โดยมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมภาษาไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ทั้งการเขียนคำบาลีสันสกฤต ใช้ตามบาลีมากว่าสันสกฤตในความหมายที่ตรงกัน ฯลฯ อักขรวิธีแบบนี้มาเลิกใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ หลังจากนั้น คนไทยก็เขียนภาษาไทยอย่างดั้งเดิมด้วยพยัญชนะ ๔๔ ตัว สระ ๒๑ รูป ๓๒ เสียง
ขอยกตัวอย่าง ภาษาไทยที่ใช้ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จากหนังสือระเบียบการแต่งกายหยิง(หญิง) ซึ่งจัดพิมพ์ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ เป็นหนังสือแจกในวันคล้ายวันเกิดพ.ทหยิง ละเอียด พิบูลสงคราม ภาษาไทยที่ใช้ในหนังสือจะเป็นลักษณะที่กล่าวแล้วในข้างต้น คือการใช้ ไ แทน ใ เช่น คำว่า “ ให้ ” เป็น “ ไห้ ” “ ใช้ ” เป็น “ ไช้ ” “ ใน ” เป็น “ ไน ” ใช้ ส แทน ศ ใช้ เช่นคำว่า “ ยศ ” เป็น “ ยส ” “ ประเทศ ” เป็น “ ประเทส ”” คำว่า น แทน ล เช่น “ ตาล ” เป็น “ ตาน ” คำว่า “ เป็น ” เขียนว่า เปน คำว่า ” ธรรมดา ” เขียนว่า “ ธัมดา ” คำว่า “ วัฒนธรรม ” เขียนว่า วัธนธัม คำว่า “ เจริญ ” เขียนว่า “ เจริน ” คำว่า “ อย่าง ” เขียนว่า “ หย่าง ” และ คำว่า “ หญิง ” เขียนว่า “ หยิง ” ตัวอย่างข้อความภาษาไทยที่ใช้ในยุคจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ตอนหนึ่งว่า “ ประ กาส สำนักนายก รัถ มนตรี เรื่องระเบียบการแต่งกาย หยิง ด้วยเห็น เปน การสม ควน ที่จะ วางระเบียบการแต่งกายหยิงไห้เหมาะสมแก่ความเจรินของประ เทส และ เปน ระเบียบเรียบร้อย ชอบด้วย วัธนธัม ของชาติ...... ”
ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ให้เกิดความเข้าใจ ความหมายตรงกัน เป็นการสืบทอดและเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมของชาติ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดภาษาไทยจะปรับเปลี่ยนไปเพียงไร ความสำคัญคือการ สื่อความหมายที่เข้าใจร่วมกัน และมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมเดียวกัน หรือพูดภาษาง่าย ๆ ว่าคุยภาษาเดียวกัน รู้เรื่อง ไม่ว่ารูปแบบของคำเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ความหมายของคำมิได้เปลี่ยน เช่นคำว่า “ วัฒนธรรม ” (วัธนธัม) หรือคำว่า “ เจริญ ” (เจริน) ซึ่งใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=7&DD=4
วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น