แม้ว่า “ดวงจันทร์” จะเป็นดินแดนนอกโลกแห่งเดียวที่มนุษย์ได้เดินทางไปสำรวจมาแล้ว แต่ดวงจันทร์ก็ยังมีความลี้ลับที่ทำให้เกิดความเชื่อ ตำนาน บทเพลง และเรื่องราวต่างๆมากมาย อันชวนให้มนุษย์ต้องไปค้นคว้า ไขว่หาดังต้องมนต์นับแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำบางส่วนมาเล่าต่อ ดังนี้
ในระบบสุริยจักรวาล ที่โลกเราอยู่นี้ ดวงจันทร์ หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า “ลูน่าร์” และชาวกรีกเรียกว่า “เซเลเน่” หรือ “อาร์เทมิส” เป็นเทหวัตถุ(ก้อน/ชิ้นหรือส่วนหนึ่งของสสาร ที่อาจเป็นของแข็ง ของเหลวหรือแก๊สก็ได้) ที่สว่างเป็นที่สองรองจากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตนเองเช่นเดียวกับ ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร แต่ได้รับแสงสะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ และเป็นบริวารดวงเดียวของโลก ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ดวงจันทร์โคจรรอบโลกครั้งหนึ่งใช้เวลา ๒๙.๕ วัน ซึ่งการหมุนรอบโลกและดวงอาทิตย์นี้ทำให้มุมเปลี่ยนไปเราจึงเห็นดวงจันทร์เต็มดวงบ้าง เป็นเสี้ยวบ้าง กำเนิดของดวงจันทร์มีสมมติฐานหลายอย่าง บ้างก็ว่าโลกและดวงจันทร์เกิดพร้อมๆกันจากกลุ่มก้อนก๊าซมหึมาของเนบิวลาต้นกำเนิดระบบสุริยะ บ้างก็ว่าดวงจันทร์แตกตัวออกจากโลก ขณะที่โลกเริ่มก่อรูปร่างขึ้นทำให้มีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว มวลสารบางส่วนจึงหลุดอกมาเป็นดวงจันทร์ เป็นต้น พื้นผิวดวงจันทร์จะมี ๒ ลักษณะคือ เป็นเทือกเขาเก่าแก่ เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต และบริเวณที่ราบเรียบที่มีอายุน้อยกว่า เรียกว่า “ทะเล”(Maria) ซึ่งมิใช่ทะเลจริง แต่สันนิษฐานว่าเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่ลาวาไหลท่วมภายหลัง และจะมีเฉพาะด้านที่หันเข้าโลกเท่านั้น ในดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ เพราะมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก ๑ ใน ๖ เราถึงเห็นมนุษย์อวกาศเดินตัวลอยไปลอยมาบนดวงจันทร์ แรงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงจันทร์ทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง
ในสมัยก่อนกวีมักจะชมหญิงสาวว่ามีใบหน้างามดุจพระจันทร์วันเพ็ญ สาวได้ยินก็ปลื้ม เพราะรู้ว่าชมแน่นอน แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ สาวใดได้รับคำชมว่าหน้าเหมือนพระจันทร์คงคิดหนัก เพราะตั้งแต่มนุษย์โลกสามารถส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ เราก็เลยได้รู้ว่าพื้นผิวดวงจันทร์ หาได้สว่างนวล ดูงามอย่างที่เห็นไม่ แต่กลับขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมาย เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีสนามแม่เหล็กและบรรยากาศ ทำให้ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์พัดกระหน่ำทำลายพื้นผิวตลอด ๔ พันล้านปีที่ผ่านมา
ในตำนานโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระอิศวรหรือพระศิวะได้สร้างพระจันทร์ขึ้นมาจากนางฟ้า ๑๕ นาง โดยร่ายพระเวทให้นางฟ้าทั้ง ๑๕ นางละเอียดป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าขาว ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระจันทร์เทพบุตรขึ้นมา มีวรกายสีขาวนวล ทรงทิพย์อาภรณ์ มีวิมานที่สถิตเป็นแก้วมุกดา ทรงอัศวราชเป็นพาหนะ สถิต ณ ทิศบูรพา (ตะวันออก) และด้วยเหตุที่พระจันทร์สร้างจากนางฟ้า ๑๕ นางนี้เอง จึงทำให้เป็นเทวะรูปงามที่มีเสน่ห์ยิ่ง และยังมีความเจ้าชู้มากรักอีกด้วย กล่าวกันว่า เทพบุตรองค์นี้นอกจากจะมีมเหสีหลายองค์แล้ว ยังมีชายาที่เป็นธิดาของพระทักษะประชาบดีอีก ๒๗ องค์ด้วย และในบางคัมภีร์ยังมีกล่าวไว้ว่า พระจันทร์ได้ลักลอบเกี้ยวพาชายาของพระพฤหัส และพานางไปเสพสมที่วิมานของตน ทำให้พระพฤหัสกริ้วติดตามไปทวงชายาคืน และก่อให้เกิดเทวะสงครามขึ้น พระพรหมผู้เป็นใหญ่ได้มาห้าม และลงทัณฑ์มิให้พระจันทร์เข้าประชุมเทวสภาอีก ในตำราบางแห่ง ได้พูดถึงการที่พระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสว่า เกิดจากชาติหนึ่งพฤหัสซึ่งเป็นทิศาปาโมกข์ พ่อนางจันทร์ ได้นำความลับที่จันทร์ลูกสาวเป็นชู้กับอังคาร ไปบอกอาทิตย์ลูกเขย สามีนางจันทร์ ทำให้ถูกจับได้ จันทร์เลยโกรธเกลียดพฤหัส และก็เป็นที่มาของวันคู่มิตรและศัตรูในทางโหราศาสตร์อีกทางหนึ่ง คือ คนเกิดวันจันทร์ จะไม่ถูกกับคนเกิดวันพฤหัส แต่เป็นคู่มิตรกับวันอังคาร
นอกจากนี้ก็ยังมีนิทานเล่าว่า นานมาแล้ว โลกมีพระจันทร์สองดวง เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ต่อมาพระจันทร์หญิงไปหลงใหลแสงเจิดจ้าของพระอาทิตย์ จึงเลื่อนตัวตามพระอาทิตย์ไปเรื่อยๆจนแยกจากจันทร์ชายในที่สุด เมื่อค่ำคืนมาถึงจึงเหลือเพียงพระจันทร์ชายเพียงดวงเดียว พระจันทร์ชายได้ออกตามหาพระจันทร์หญิงคืนแล้วคืนเล่า แต่ก็ไม่พบ จึงได้ระเบิดตัวเองออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปทั่วจักรวาลเพื่อช่วยกันตามหา ครั้นต่อมาพระจันทร์หญิงได้ประจักษ์ว่าพระอาทิตย์มิได้ส่องแสงเจิดจ้ามาเพียงเธอเท่านั้น แต่ยังส่องไปยังดาวดวงอื่นอีกมากมาย จึงได้กลับมาหาพระจันทร์ชายอีกครั้ง แต่เธอก็ไม่อาจได้พบพระจันทร์ชายได้อีกแล้ว ทำให้เธอเศร้าโศกเสียใจ พระจันทร์ชายจึงพยายามเปล่งแสงที่มีอยู่น้อยนิดให้พระจันทร์หญิงได้เห็น เป็นแสงพร่างพรายเต็มท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ จนเกิดเป็นดวงดาวและดวงจันทร์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เพียงแต่วันไหนคุณเห็นดวงจันทร์สวยสด คุณก็จะไม่เห็นแสงจากดาวดวงเล็กดวงน้อย หรือวันใดที่เราเห็นดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า เราก็จะไม่เห็นพระจันทร์ เพราะเขาและเธอไม่อาจพบกันตลอดกาล
แม้ในตำราจะบอกว่า พระจันทร์เป็นเทพบุตร แต่ในทางทฤษฎีแพทย์แผนจีน ที่แบ่งสรรพสิ่งในธรรมชาติออกเป็น ๒ ฝ่ายคือหยิน และหยาง พระจันทร์จะถูกจัดให้เป็น ยิน อันหมายถึงผู้หญิง กลางคืน น้ำ และความนิ่งรวมอยู่ด้วย ส่วน หยาง จะได้แก่ พระอาทิตย์ ผู้ชาย ไฟ และความเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งในทางโหราศาสตร์ ดาวจันทร์ ยังหมายถึงรูปร่างหน้าตา จริตมารยา ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ ความอ่อนไหวง่าย ปรับตัวง่าย ถิ่นที่อยู่อาศัย และญาติพี่น้อง รวมถึงเป็นดาวธาตุน้ำ มีสัญลักษณ์เป็นเลข ๒ มีพระพุทธรูปปางประจำวันจันทร์คือ “ปางห้ามญาติ” หรือ “ปางห้ามสมุทร” โดยมีลักษณะต่างกันคือ ปางห้ามญาติจะยกมือขวาขึ้นห้ามเพียงมือเดียว ถ้าเป็นปางห้ามสมุทรจะยกมือทั้งสองขึ้นห้าม ซึ่งการที่ถือพระพุทธรูปปางนี้ประจำวันจันทร์ มีการสันนิษฐานว่า เกิดจากเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามพระญาติสองเมืองคือกรุงกบิลพัสดุ์ และเทวทหะมิให้ทะเลาะแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี ที่ใช้ทำเกษตรร่วมกัน ดังนั้น จึงเกี่ยวพันกันทั้งน้ำและญาติ อันเป็นความหมายและอิทธิพลของดาวจันทร์ จึงใช้พระพุทธรูปปางนี้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อเตือนสติ เช่นเดียวกับปางห้ามสมุทรที่เกี่ยวกับน้ำ อันเป็นเหตุการณ์เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปปราบชฏิลสามพี่น้องซึ่งเป็นนักบวชที่บูชาไฟ และตั้งต้นเป็นใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ทรงแสดงปาฏิหารย์ห้ามลม ห้ามฝน ห้ามพายุน้ำท่วม มิให้มาทำอันตรายพระองค์ได้ จนชฏิลทั้งหลายเกิดเลื่อมใสขอบวชตาม คนโบราณสร้างพระพุทธรูปปางนี้ประจำวันจันทร์เพื่อแก้เคล็ด มิให้เป็นคนหวั่นไหวง่าย และรู้จักหักห้ามใจตนเอง รวมทั้งขจัดปัดเป่าให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี ตามลักษณะอาการที่ยกพระหัตถ์ห้ามนั่นเอง นอกจากนี้ในทางพุทธศาสนา เราจะสังเกตเห็นว่าเหตุการณ์สำคัญๆต่างๆก็ล้วนเกิดในคืนวันเพ็ญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น
ในหนังสยองขวัญต่างๆ เช่น มนุษย์หมาป่า ก็มักกำหนดให้ พระเอกกลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือพระจันทร์สีเลือด นอกจากนี้บางแห่งยังมีความเชื่อว่าอิทธิพลของดวงจันทร์ทำให้อะไรเล็กอะไรใหญ่ก็ได้ เช่น ถ้าต้องการปลูกต้นน้ำเต้าให้ผลเล็ก ให้ปลูกตอนเดือนเริ่มหงายใหม่ๆ ถ้าต้องการจะปลูกให้ผลโต ต้องปลูกหลังเดือนเพ็ญไปแล้ว ๓ วัน ซึ่งก็คือข้างแรมนั่นเอง
สำหรับบทเพลงที่เกี่ยวกับ ดวงจันทร์ พระจันทร์ที่เราคุ้นหูตั้งแต่เด็กก็คือ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ฯ แล้วก็ยังมีเพลงที่แสดงให้เห็นว่า ผู้แต่งเพลงทั้งหลายผูกพันหรือต้องมนต์ของพระจันทร์อยู่ไม่น้อย เช่น เพลงโสมส่องแสง จันทร์แจ่มฟ้า และลาวดวงเดือน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าแสงสกาวสุกใสในคืนวันเพ็ญ ทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติก และมีผลต่อจินตนาการของนักกวี นักแต่งเพลง และนักเขียนซึ่งไม่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น แต่เข้าใจว่ามีอยู่ในทุกประเทศด้วย นอกจากนี้ “ดวงจันทร์” ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีก เช่น จันทรา ดวงเดือน แข หรือ โสม เป็นต้น (คำว่า”เพ็ญ” หมายถึง “เต็ม” เช่น คืนเดือนเพ็ญ คือ คืนพระจันทร์เต็มดวง)
เรื่องราวเกี่ยวกับ “พระจันทร์” อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ “ประเพณีไหว้พระจันทร์” ซึ่งตามเอกสารเผยแพร่ของกองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวว่า เป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณนับร้อยๆปี วันไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๘ ของจีน ซึ่งถือกันว่าเป็น วันกลางเดือนของเดือนกลางฤดูใบไม้ร่วง เพราะจีนจะแบ่งวันเวลาออกเป็น ๔ ฤดูคือ ชุง ฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือน ๑ ๒ ๓ แห่ คือ ฤดูร้อน ตรงกับเดือน ๔ ๕ ๖ ชิว คือ ฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับเดือน ๗ ๘ ๙ และตัง คือฤดูหนาว ตรงกับเดือน ๑๐ ๑๑ และ ๑๒ ของจีน ซึ่งวันสารทกลางเดือนกลางฤดูใบไม้ร่วงดังกล่าว ยังเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ที่เล่ากันว่าจักรพรรดิ์จีนสมัยโบราณจะทำพิธีเซ่นไหว้พระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ และไหว้พระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง
การไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้เพื่อรำลึกถึงองค์ไท้อิมเนี้ย เทพผู้ให้ความสุขสงบแก่สรรรพสิ่งในโลก และถือว่าเป็นเทพที่มีพระสิริโฉมงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ซึ่งจะเสด็จมาโปรดสัตว์โลกในคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือน ๘ ของสักการะจึงมักเป็นของเสี่ยงทายเพื่อขอให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว นอกจากนี้ วันไหว้พระจันทร์ ยังเกี่ยวกับประวัติศาสาตร์จีน ตอนที่ “จูง่วนเจียง” ผู้นำชาวจีนสมัยนั้นได้นัดแนะชาวจีนขึ้นต่อต้านกษัตริย์ชาติมองโกลที่ยึดครองจีนอยู่ โดยให้แต่ละครอบครัวจัดทำอาวุธ และเอกสารนัดหมายแอบซ่อนไว้ในหรือใต้ขนมโก๋ หรือขนมเปี๊ยะที่มีขนาดใหญ่ โดยแกล้งทำเป็นธรรมเนียมแลกเปลี่ยนขนมระหว่างญาติเพื่อตบตาชาวมองโกล เพราะสมัยก่อนมีกฏหมายห้ามชาวจีนตีเหล็กทำอาวุธ และให้มีมีดใช้ ๕ ครอบครัวต่อหนึ่งเล่ม ซึ่งในหนังสือก็ได้นัดให้ทุกครอบครัวจัดงานไหว้พระจันทร์ด้วยการประดับประดาตกแต่งโต๊ะไหว้ให้สวยงามโดยพร้อมเพรียงกัน และถือเป็นวันดีเดย์ในการยึดอำนาจคืน เมื่อสำเร็จ จูง่วนเจียงได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ นามว่า “พระเจ้าไท้โจวเกาอ่วงตี้”
ในสมัยก่อน ประเพณีวันไหว้พระจันทร์จะเป็นวันที่สาวๆหนุ่มชาวจีนจะได้มีโอกาสออกมาพบปะกันด้วย ทำให้หลายคู่ได้แต่งงานกันเพราะประเพณีนี้ ปัจจุบัน ประเพณีการไหว้พระจันทร์ได้ลดน้อยถอยลงไปมาก นับตั้งแต่สหรัฐฯได้ส่งนีล อาร์มสตรองไปเหยียบดวงจันทร์ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๒ และประเพณีดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิมด้วยอาหารเจ พร้อมมีการจัดโต๊ะประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามแทน ซึ่งในปีนี้ “วันไหว้พระจันทร์” ตรงกับวันที่ ๑๘ กันยายน ซึ่งหลายแห่งก็มีการจัดงานตามประเพณีกันอยู่เช่นที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม ในจังหวัดชลบุรี
ที่กล่าวข้างต้น คงจะทำให้หลายๆคนได้รู้จัก “พระจันทร์”ที่แสนจะใกล้ชิดเรายิ่งขึ้น และไม่ว่าเราจะมอง “ดวงจันทร์” ที่ไกลจากโลก ๓๘๔,๔๐๐กิโลเมตร อย่างนักดาราศาสตร์ หรือจะเฝ้าชม “จันทรา” ด้วยมนต์สะกดแบบไหน “พระจันทร์” ก็ยังเป็นพระจันทร์ที่ส่องแสงแก่ทุกคนในโลกอย่างเท่าเทียมกัน
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2548&MM=9&DD=2
วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น