วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ช.ช้างวิ่งหนี





ช้าง” สัตว์ที่มีบุญคุณและมีประโยชน์กับชาติไทยมาแต่โบราณ ช้างปรากฏตัวอยู่ในสำนวนไทยหลายสำนวน เช่น ขี่ช้างจับตั๊กแตน เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิด ฆ่าช้างเอางา ฯลฯ ลองอ่านกันไปทีละสำนวนเชื่อว่าคงให้มุมมองแง่คิดกับชาวกรมประชาสัมพันธ์ได้ไม่น้อย ช้าง ในสำนวน “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” มองเห็นความแตกต่างระหว่างช้างกับตั๊กแตนได้ชัดเจน ตั๊กแตนเป็นแมลงตัวเล็กจับยาก ถ้าจะจับต้องใช้สวิงขนาดเล็กผูกกับไม้ปลายยาว ไล่ครอบจึงจะจับได้ ถ้าใช้มือไม่มีทางที่จะจับได้ เพราะตั๊กแตนบินไปได้ไกลๆ และรวดเร็วมาก ส่วนช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่เทียบไม่ได้กับแมลงอย่างตั๊กแตน และถ้าเราต้องขี่ช้างไปจับตั๊กแตน จะสมควรแล้วหรือ เป็นเรื่องที่ต้องลงทุนลงแรงกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือ สำนวนขี่ช้างจับตั๊กแตนจึงหมายความถึงสิ่งที่เราทำใหญ่โตเกินความจำเป็นหรือเกินกว่าเหตุ ใช้เปรียบเทียบเพื่อชี้ให้เห็นว่า การลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ใหญ่โต แต่ไดผลประโยชน์หรือผลตอบแทนพียงนิดเดียวนั้น ไม่คุ้มค่า ไมสมควรที่จะทำ ช้าง ในสำนวนต่อมา คือ สำนวนว่า “เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง” มีที่มาจาก คนเลี้ยงช้างของหลวงในสมัยโบราณที่เรียกว่า ตะพุ่น คือ คนเกี่ยวหญ้ามาให้ช้างกิน โดยเมื่อเกี่ยวหญ้าแล้วก็จะนำมาวางกองไว้ห่างๆ ไม่ให้ช้างเอางวงตวัดหญ้ากินเองได้ เมื่อช้างหิวก็ส่งเสียงร้องและฟวดงวงไปมา คนที่เดินผ่านมาก็เกิดความสงสัยถามว่าทำไมถึงไม่เอาหญ้าให้ช้างกิน คนเลี้ยงก็ตอบว่าถ้าอยากให้ช้างกินหญ้าก็ช่วยซื้อหญ้าให้ช้างกินหน่อยเถอะ ด้วยความสงสารคนที่เห็นดังนั้นก็เลยต้องซื้อหญ้าให้ช้างกิน คนเลี้ยงช้างก็เลยได้เงินค่าหญ้าไปฟรีๆ สำนวนเลี้ยงช้างกินขี้ช้างจึงหมายถึง หาประโยชน์จากงานที่ตนเองทำอยู่ ใช้เปรียบเทียบคนที่ทำงานชนิดใดแล้วพลอยมีส่วนได้ประโยชน์จากงานนั้น แต่เป็นประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องไม่บริสุทธิ์ อีกสำนวนหนึ่งที่มี ช้าง ปรากฏอยู่ คือ สำนวนว่า “ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน” ชาวกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยสงสัย คงได้หายสงสัยกันเสียที คนโบราณให้ดูช้างหน้าหนาวก็เพราะว่า หน้าหนาวเป็นเวลาที่ช้างตกมัน จะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นดุร้ายอาละวาดคนที่เลี้ยงช้างเป็นเจ้าของช้างก็จะรู้ว่าช้างตัวไหนมีพละกำลังมากในการชักลากซุง ส่วนในหน้าร้อน หญิงสาวมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ทำให้เห็นรูปร่างสัดส่วนผิวพรรณที่สวยงาม ชายหนุ่มจึงชอบดูหญิงสาวในหน้าร้อนนี่เอง สำนวนนี้เป็นคำกล่าวแนะนำให้สังเกตลักษณะของช้างและหญิงสาวที่เป็นไปตามธรรมชาติและสภาวะอากาศ สำนวนนี้ก็เป็นอีกสำนวนหนึ่งที่เปรียบเทียบสิ่งใหญ่กับสิ่งเล็ก สำนวนว่า “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด” ช้างนั้นตัวใหญ่มากเมื่อเทียบกับใบบัว ใบบัวจะปิดช้างทั้งตัวได้อย่างไร เช่นเดียวกับความชั่วที่พยายามกลบเกลื่อนปกปิด ไม่สามารถปิดมิด ความจริงย่อมปรากฏออกมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง สำนวนนี้ใช้เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยอมสารภาพรับผิด พยายามกลบเกลื่อนปิดบัง ปิดท้ายสำนวนไทยที่เกี่ยวกับช้างสำนวนนี้ คือ “ฆ่าช้างเอางา” ช้างเป็นสัตว์ที่มีคุณประโยชน์มาก ทั้งลากซุง ทั้งเป็นยานพาหนะ ช้างไม่ได้มีประโยชน์ด้านแรงงานเท่านั้น แต่ช้างยังเป็นสัตว์ที่มีความสวยงามโดยเฉพาะงา เชื่อกันว่างาช้างเป็ของมงคล ทำให้คนอยากไดไว้ครอบครอง แต่การจะได้งาช้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยต้องล้มช้าง (ฆ่าช้าง) เสียก่อนจึงจะเอางามาได้ เป็นการทำลายสิ่งใหญ่โต (คือช้างทั้งตัว) เพื่อแลกกับสิ่งเล็กน้อย (คือ งาเพียงคู่เดียว) โดยไม่คำนึงว่าสมควรหรือไม่ สำนวนนี้ใช้เตือนสติให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่จะได้มา โดยต้องทำลายสิ่งที่มีค่ามากมายไป เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น