ว่า “ภาษิต” หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน มีความหมายเป็นคติ เช่น กงเกวียนกำเกวียน ส่วนคำพังเพย ก็คล้ายกันคือเป็นถ้อยคำที่กล่าวกันมานาน โดยกล่าวเป็นกลางๆเพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม ส่วนสำนวนไทย จะเป็นถ้อยคำหรือข้อความที่มีความหมายไม่ตรงตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ทั้งภาษิต คำพังเพยและสำนวนไทยนี้เป็นถ้อยคำที่เรามักพบเห็นหรือใช้ในการเขียนการพูดอยู่เสมอ ถ้อยคำเหล่านี้บ้างก็มาจากการสังเกตสิ่งแวดล้อม บ้างก็นำมาจากนิทาน วรรณกรรมเรื่องต่างๆเป็นการเปรียบเทียบ หรือไม่ก็เพื่อสอนหรือให้คติเตือนใจแก่ผู้อ่าน/ผู้ฟัง ในโอกาสปีใหม่อันเป็นปีระกา-ไก่ พยัญชนะตัวแรกของไทย กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำภาษิต คำพังเพยและสำนวนไทยที่ขึ้นต้นด้วยตัว ก. ไก่ มาบอกกล่าวเล่าถึงความหมาย เพื่อเป็นความรู้และนำไปใช้ประโยชน์ตามควรแก่โอกาสต่อไป ดังนี้
กงเกวียนกำเกวียน เป็นสำนวนที่มีความหมายว่า กรรมสนองกรรม คือใครทำอะไรไว้ ไม่ช้าก็เร็ว ตนหรือลูกหลานของตนย่อมจะได้รับผลกรรมตามที่ก่อไว้ เปรียบเหมือนกงเกวียน คือ ล้อเกวียน และกำเกวียน คือ ซี่ล้อเกวียน ที่ต้องหมุนเป็นวงกลมและหมุนทับรอยเดิม
กล่องดวงใจ หมายถึง สิ่งที่หวงแหน หรือทะนุถนอมปานดวงใจ คำนี้มาจากเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ที่พูดถึงการรบระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ ที่แม้จะรบกันหลายครั้งหลายหน จนทศกัณฐ์ถูกศรพระรามตัดร่างกายเป็นหลายส่วน แต่ก็ยังไม่ตาย และยังสามารถร่ายมนต์ต่อตัวได้ดั่งเดิม พิเภกจึงทูลพระรามถึงความลับทศกัณฐ์ว่าที่ฆ่าเท่าไรก็ไม่ตายไม่ว่าจะด้วยอาวุธชนิดใด ก็เพราะทศกัณฐ์ได้ถอดดวงใจใส่กล่องฝากไว้แก่ฤษีโคบุตรผู้เป็นอาจารย์ ฉะนั้น ทางเดียวที่จะฆ่าได้คือ ต้องไปเอากล่องดวงใจมาทำลายเสีย พระรามเลยให้หนุมานและองคตไปหลอกฤษี จนได้กล่องดวงใจมาขยี้ทิ้งในตอนท้าย ทศกัณฐ์จึงตายไปในที่สุด
กาคาบพริก เป็นประโยคหมายถึงคนที่มีผิวดำ ที่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดง อันมีที่มาว่าสมัยก่อนกามักจะคาบหรือบินมาโฉบของในบ้านคนเสมอ บางครั้งก็บินโฉบมาคาบพริกสีแดงที่ตากไว้ กาตัวดำคาบพริกสีแดง ทำให้เป็นที่สังเกตง่าย ดังนั้น จึงเปรียบคนที่มีผิวคล้ำหรือดำและชอบแต่งสีแดงหรือสีสดๆว่า กาคาบพริก เป็นการพูดล้อเลียนด้วยความขบขันหรือค่อนว่าในลักษณะที่ว่า แต่งตัวไม่เป็นหรือไม่สมกับสภาพของตนเอง
กาตาแววเห็นธนู หมายถึง คนขี้ขลาด หรือตื่นกลัวโดยใช่เหตุ เหมือนกับกาที่คอยระแวงลูกธนูซึ่งอาจจะยิงมาที่ตน ทั้งๆที่เขายังไม่ได้โก่งคันธนูด้วยซ้ำ
กาหลงรัง เป็นคำเปรียบเทียบ ผู้ที่หลงไปติดอยู่บ้านใดบ้านหนึ่งแล้วไม่ยอมกลับบ้านตน หรือหมายถึง คนเร่ร่อน ไม่มีที่พักพิงเป็นหลักแหล่งแน่นอน เหมือนกาที่หารังของตัวไม่พบ
กิ่งก่าได้ทอง หมายถึง คนเย่อหยิ่งจองหอง หรือลำพองตน เป็นการพูดติเตียนบุคคลผู้หลงผิดคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น หรือคนที่มีฐานะด้อย เมื่อได้ดีแล้วลืมตัว ทำเย่อหยิ่งไม่นึกถึงคนที่เคยทำคุณแก่ตน โดยเรื่องนี้มาจากเรื่อง มโหสถชาดก ที่ว่า พระเจ้าวิเทหะแห่งเมืองมิถิลาได้เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน กิ่งก่าตัวหนึ่งเกาะตรงซุ้มทวารแลเห็น ก็รีบลงมากับพื้นและก้มศีรษะลง พระองค์จึงถามมโหสถว่ากิ่งก่าทำอะไร มโหสถก็ตอบว่า มันทำความเคารพพระองค์ พระองค์ก็พอพระทัยรับสั่งพนักงานให้ซื้อเนื้อให้กิ่งก่ากินเป็นรางวัล วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พนักงานหาเนื้อไม่ได้ จึงไปซื้อทองเท่าราคาเนื้อมาร้อยเชือกผูกที่คอมันแทน เมื่อได้ทองมาคล้องคอ กิ่งก่าเกิดความลำพองใจ คิดว่ามันก็มีความมั่งคั่งไม่แพ้พระเจ้าวิเทหะ ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาราชอุทยานอีก มันจึงเกาะซุ้มประตูเฉย ไม่ลงมาและไม่ทำความเคารพเหมือนเคย พระองค์ก็ฉงนพระทัยและถามมโหสถๆก็บรรยายกราบทูลให้ฟังถึงสาเหตุ พระองค์จึงลงโทษโดยงดให้อาหารแก่มัน แต่มโหสถก็ได้ขอประทานโทษกิ่งก่าไว้ และว่ามันเป็นผู้ที่ไร้สติปัญญาจึงเห็นผิดเป็นชอบไป จึงควรให้อภัย พระราชาก็โปรดให้เป็นไปตามที่มโหสถทูล
กบเลือกนาย หมายถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งท้ายสุดก็มักจะไม่ได้ดี คำนี้มาจากนิทานชื่อเดียวกัน ที่ว่ามีกบฝูงหนึ่งอาศัยในสระน้ำ วันดีคืนดีก็ขอให้เทวดาส่งนายมาให้พวกมัน เทวดาก็ส่งขอนไม้ไปให้ แรกๆกบทั้งหลายก็ดีใจ กระโดดโลดเต้นอยู่บนขอนไม้นั้น แต่พอนานๆไป เห็นว่าขอนไม้ไม่มีปฏิกิริยาอะไร ก็เกิดเบื่อ ขอให้เทวดาส่งนายมาให้ใหม่ เทวดารำคาญกบช่างขอ ก็เลยส่งนกกระสามา นกก็เลยจิกกินกบจนหมดสระ
กระดูกร้องไห้ เป็นสำนวนหมายถึงผลสะท้อนของฆาตกรรมที่ทำให้จับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ คล้ายกับว่ากระดูกของผู้ตายร้องบอก
กลิ้งครกขึ้นภูเขา หมายถึง การทำงานที่ยาก หรืองานที่ลำบากเกินความสามารถของตน เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นยากมาก เหมือนการกลิ้งครก (ตำข้าวที่ทำด้วยไม้ ใหญ่และหนัก) ขึ้นไปบนภูเขาที่สูงชัน ย่อมต้องใช้กำลังและความสามารถประกอบกัน
เกลือจิ้มเกลือ หมายถึง ไม่ยอมเสียเปรียบกัน หรือการแก้เผ็ดให้สาสมกัน คือ หากถูกกลั่นแกล้งหรือทำร้าย ก็จะหาวิธีการแก้แค้นตอบแทนด้วยวิธีที่ร้ายๆพอๆกัน รวมทั้งหมายถึงคนเค็มต่อคนเค็มมาเจอกัน คือ คนขี้เหนียวมาเจอคนขี้เหนียวเหมือนกันด้วย
กินที่ลับ ไขที่แจ้ง หมายถึง การเปิดเผยเรื่องที่ทำกันในที่ลับ ส่วนมากมักจะใช้กับชายหนุ่มที่หลอกหญิงสาวให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย แล้วมาเปิดโปงว่าได้สาวเป็นเมียแล้ว โดยไม่คิดรับผิดชอบ
กินน้ำพริกถ้วยเก่าหรือน้ำพริกถ้วยเดียว หมายถึง อยู่กับเมียคนเดิมหรือเมียคนเดียว ด้วยว่าสมัยก่อน น้ำพริกถือเป็นอาหารที่หญิงสาวที่มีเหย้ามีเรือนต้องทำเป็น ดังนั้น การที่สามีมีเมียเดียว จึงได้ลิ้มน้ำพริกรสชาติเดียวตลอด เหมือนน้ำพริกถ้วยเก่าที่ไม่เปลี่ยนแปลง
กินน้ำไม่เผื่อแล้ง เป็นสำนวนหมายถึงมีอะไรใช้หมดทันที ไม่คิดถึงวันข้างหน้า ในสมัยก่อนหรือแม้แต่สมัยนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อยังไม่มีน้ำประปา จำเป็นต้องไปตักน้ำหรือรองน้ำใส่ภาชนะ เช่น โอ่ง เผื่อไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งจะหาน้ำได้ยาก ดังนั้น หากใช้หรือกินหมดในยามที่มี เมื่อถึงคราวจำเป็นก็จะไม่มีใช้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เป็นการสอนให้รู้จักทำอะไร ต้องคิดถึงกาลข้างหน้า เผื่ออนาคตไว้ด้วย
เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง หมายถึง เกลียดตัวเขา แต่อยากได้ประโยชน์จากเขา เป็นการเปรียบเทียบว่าบางคนไม่ชอบสัตว์บางชนิด เพราะเห็นแล้วขยะแขยง เช่น ปลาไหลที่เหมือนงู แต่พอคนเขาเอาไปทำอาหาร กลับซดน้ำแกงได้อย่างเอร็ดอร่อย เหมือนคนที่ไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่ง แต่กลับไม่รังเกียจที่จะรับผลประโยชน์จากเขา
แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ หมายถึง จะรู้ค่าก็ต่อเมื่อเดือดร้อน จึงนึกได้ว่าสิ่งนั้น คนนั้นมีคุณและเป็นประโยชน์ต่อเรา โดยปกติ แกง ซึ่งหมายถึงกับข้าวประเภทน้ำที่มีชื่อเรียกต่างๆตามวิธีปรุง เช่น แกงส้ม แกงเผ็ด หรือแม้แต่แกงจืดที่มีรสไม่เผ็ด ในสมัยที่ยังไม่มีน้ำปลาเป็นตัวชูรส เขาก็ใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงรส ดังนั้น แกงจืด ซึ่งในที่นี้หมายถึง ไม่มีรสชาติที่กลมกล่อม จึงได้รู้ว่าลืมใส่เกลือ เช่นเดียวกับคนบางคน ยามสุขสบาย ก็มักจะลืมนึกถึงคนที่ดูแลให้ความช่วยเหลือ ครั้นตกระกำลำบาก จึงได้คิดถึงเขาขึ้นมาได้
http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2547&MM=12&DD=11
วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น