วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รู้เรื่อง ฉ.ฉิ่ง พยัญชนะตัวที่ ๙ ของไทย

ฉ.ฉิ่ง ที่เด็กๆมักท่องจำกันว่า “ฉ.ฉิ่ง ตีดัง ช.ช้าง วิ่งหนี” นั้น คงเป็นเพราะว่าเสียงดังของฉิ่งทำให้ช้างตกใจกลัว จึงต้องวิ่งหนีไป ฉ.ฉิ่งที่ว่านี้ เป็นพยัญชนะตัวที่ ๙ ของพยัญชนะไทย ที่มีด้วยกันอยู่ ๔๔ ตัว นับเป็นพวกอักษรสูง ซึ่งมี ๑๑ ตัวได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส และห แม้จะมีคำที่ขึ้นต้นด้วย ฉ ฉิ่งไม่มากนัก แต่หลายคำเชื่อว่าบางคนก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำมาบอกกล่าวเล่าให้ทราบ ดังต่อไปนี้
ฉ ตัวแรกที่เราน่าจะรู้จักกันดี คือ ฉ ฉัน สรรพนามบุรุษที่ ๑ อันเป็นคำใช้แทนตัวผู้พูด พูดกับผู้ที่เสมอกัน เช่น ฉันชอบคุณ ผู้ใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อย เช่น ฉันขอเตือนเธอว่าอย่าทำเช่นนั้นอีก นอกจากนี้ ฉัน ยังเป็นคำกริยาที่ใช้แก่ภิกษุ สามเณร หมายถึง กิน และอาจจะหมายถึง เสมอเหมือนก็ได้ เช่น ฉันญาติ ฉันใดก็ฉันนั้น
ในกรณี ฉ.ฉิ่ง ที่อยู่ตัวเดียวโดดๆ คือ ฉ มีความหมายว่า หก จะอ่านได้ ๓ แบบ คือ ฉอ ฉ้อ และฉะ ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่กับตัวใด มักจะใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น เช่น ฉกษัตริย์ (ฉ้อกะสัดหรือ ฉอกะสัด) หมายถึง กษัตริย์ ๖ พระองค์ ซึ่งเป็นชื่อกัณฑ์ที่ ๑๒ ของเทศน์มหาชาติอันประกอบด้วย พระบิดามารดาของพระเวสสันดร ตัวพระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหา และชาลี ส่วนฉกามาพจร หรือฉกามาวจร (ฉะกามาพะจอน ฉะกามาวะจอน) หมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ฉทวาร (ฉะทะวาน) หมายถึง ทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ฉทานศาลา (ฉ้อทานนะสาลา) คือ ศาลาซึ่งเป็นที่ทำทาน ๖ แห่ง ส่วน ฉศก (ฉอศก) เป็นการเรียกปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๖ เช่น ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๓๔๖ เป็นต้น
นอกจากนี้ ฉ ที่หมายถึง สัตว์ ก็มี ฉลู เป็นชื่อปีที่สองของรอบปีนักษัตร มีวัวเป็นเครื่องหมาย ส่วน ฉลาม ก็เป็นปลาทะเลที่เรารู้จักกันดี โดยเฉพาะจากภาพยนตร์เรื่อง “จอส์ว” ฉลามมีหลายชนิด เช่น ฉลามหนู ฉลามเสือ ฉลามหิน บางชนิดมีขนาดใหญ่มาก เช่น ฉลามวาฬ เช่นเดียวกับ ฉนาก (ฉะหนาก) ก็เป็นชื่อปลาทะเลอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นเฉาฮื้อ จะหมายถึงปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีลำตัวยาว สีเงิน ไม่มีหนวด เกล็ดใหญ่เรียบ มีถิ่นเดิมอยู่ในประเทศจีน นำเข้ามาเลี้ยงเป็นอาหาร ฉัททันต์ เป็นชื่อช้างตระกูล ๑ ใน ๑๐ ตระกูล เรียกว่าฉัททันตหัตถี มีกายสีขาวบริสุทธ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง และยังเป็นชื่อสระใหญ่สระหนึ่งในเจ็ดสระของป่าหิมพานต์อีกด้วย
สำหรับ ฉ ที่ทำให้คนงงๆ คงได้แก่ ฉงน หมายถึง สงสัย ไม่แน่ใจ แคลงใจ ส่วนฉงาย(ฉะหงาย) หมายถึง สงสัย ซึ่งเรามักจะพูดคู่กันว่า ฉงนฉงาย แต่ถ้าใครก็ตามมาทำท่าฉวัดเฉวียน (ฉะหฺวัดฉะหฺวียน) คือ อาการบินวนเวียนไปมาอย่างผาดโผน หรือขับรถแบบฉวัดเฉวียน ก็คงทำให้เราฉิว คือ รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันที ในทางตรงกันข้าม หากบอกว่ารถแล่นฉิว อันหมายถึง เร็วเรื่อยไปไม่ขาดสาย เร็วไม่ติดขัด เรากลับจะชอบใจด้วยซ้ำ จึงขึ้นกับว่าจะเป็น ฉิว แบบไหน
ฉ. แปลกๆที่เราไม่ค่อยได้ยิน ได้แก่ ฉมบ (ฉะมบ) หมายถึง ผีผู้หญิงที่ตายในป่าและสิงอยู่บริเวณที่ตาย มีรูปเห็นเป็นเงาๆ แต่ไม่ทำอันตรายใคร ถ้าเขียนฉฺมบ เป็นคำเขมร หมายถึง หมอตำแย ฉมา (ฉะมา) แปลว่า แผ่นดิน แต่ถ้า ฉมำ (ฉะหฺมำ) จะหมายถึง แม่น ไม่ผิด หรือขลัง ส่วนฉม่อง (ฉะหฺม่อง) หมายถึง คนตีฆ้อง เช่น “พานรนายฉม่องว่องไว คุมคนธรรพ์ไป ประจานให้ร้องโทษา” เป็นคำพากษ์ในรามเกียรติ ฉวะ (ฉะวะ) หมายถึง ร่างสัตว์หรือคนที่ตายแล้ว หรือซากศพ (เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) ฉวาง (ฉะหฺวาง) หมายถึง วิธีเลขชั้นสูงของโบราณอย่างหนึ่ง หรือจะแปลว่า ขวาง ก็ได้ เช่น อันว่าพยัคฆราช อันฉวางมรรคาพระมัทรี ฉินท- หรือฉินท์ (ฉินทะ- )หมายถึง ตัด ขาด ทำลาย เช่น ฉินทฤกษ์ คือ ฤกษ์ตัดจุก ส่วน เฉลว (ฉะเหฺลว) หลายคนอาจจะยังเคยเห็น เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกขัดเป็นมุมๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป ใช้สำหรับปักหม้อยา หรือปักเป็นเครื่องหมายในสิ่งของที่จะขาย หรือปักบอกเขต
ฉ ฉิ่งที่เกี่ยวกับกิริยาอาการ ได้แก่ ฉก คือ การฉวยหรือชิงเอาไปโดยเร็ว ฉกฉวย คือ ยื้อแย่งไปต่อหน้า ฉกชิง คือ แย่งเอาไปซึ่งหน้า ฉีก คือ ทำให้ขาดแยกออกจากกัน ฉีด หมายถึง ใช้กำลังอัดหรือดันให้ของเหลวอย่างน้ำพุ่งออกมาจากช่องเล็กๆ ฉุก คือ อาการที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น ฉุกคิด ฉุกใจ คือ คิดขึ้นมาได้ทันทีตอนนั้น ฉะฉาน คือ อาการที่พูดห้าวหาญและชัดถ้อยชัดคำ บางแห่งก็ใช้ฉาดฉาน
สำหรับ ฉ ที่คนรังเกียจหรือไม่ค่อยชอบก็มีหลายคำ ได้แก่ ฉ้อ คือ โกง ฉ้อฉล คือ การใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ฉ้อราษฎรบังหลวง คือ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวงหรือเบียดบังเงินหลวง ฉุน คือ หมายถึง แรง กล้า มักใช้กับกลิ่นและรส เช่น เหล้าฉุน และยังแปลว่า รู้สึกโกรธขึ้นมาทันที แต่ถ้าบอกว่าฉุนเฉียว จะหมายถึง ฉุนจัด หรือโกรธเร็ว โกรธง่าย โฉด หมายถึง โง่เขลาเบาปัญญา เฉา หมายถึง เหี่ยว ไม่สดชื่น เฉ่ง คือ การชำระเงินที่ได้เสียกัน หรือชำระเงินที่ติดค้างกันอยู่ แต่อาจจะหมายถึงการด่า ว่าหรือทำลายร่างกายกันก็ได้ เฉด หมายถึง การขับไล่ไสส่ง เช่น เฉดหัวไป แฉ หมายถึง ตีแผ่ เปิดเผย แฉโผย หมายถึง เปิดเผยข้อที่ปิดบังหรือความลับ แฉะแบะ คือ อาการที่นั่งเฉื่อยชาอยู่นานๆ ฉุ หมายถึง เนื้อไม่แน่น อ้วนหรือบวม ฉาว คือ อื้ออึง เอิกเกริก ฉาวโฉ่ หมายถึง เกรียวกราวขึ้น รู้กันไปทั่วมักใช้ในเรื่องไม่ดี และฉาตกภัย (ฉาตะกะไพ) คือ ภัยที่เกิดจากความแห้งแล้ง ภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง
ถ้าเป็น ฉ ที่ชวนให้คนชอบ น่าจะได้แก่ ฉลาด หมายถึง เฉียบแหลม ไหวพริบดี ปัญญาดี ฉลาดเฉลียว คือ มีปัญญาและไหวพริบดี ฉอเลาะ คือ พูดออดอ้อนหรือแสดงกิริยาทำนองนั้นเพื่อให้เอ็นดู มักใช้กับเด็กหรือผู้หญิง ฉม หมายถึง กลิ่นหอม เครื่องหอม ฉลวย (ฉะหฺลวย) หมายถึง สวยสะโอดสะอง โฉมตรู หมายถึง หญิงงาม ไฉไล หมายถึง งาม โฉนด คือ หนังสือราชการที่แสดงกรรมสิทธ์ในที่ดิน ส่วน ฉลอง หมายถึง การทำบุญหรือบูชาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นงานเอิกเกริกเพื่อแสดงความปิติยินดี เช่น ฉลองพระ ฉลองอายุ ฉลองปริญญา ขณะเดียวกัน ถ้าใช้ว่า ฉลองคุณ จะหมายถึง ทดแทน และถ้าใช้เกี่ยวกับราชาศัพท์มักจะหมายถึง จำลอง รอง แทนหรือช่วย เช่น ฉลองได หมายถึง ไม้เกาหลัง ฉลองพระเนตร คือ แว่นตา ฉลองพระองค์ หมายถึง เสื้อ เป็นต้น ส่วน ฉัตร จะหมายถึง เครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายร่มซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ
และ ฉ ฉิ่ง เอง นอกจากจะหมายถึง เครื่องตีกำหนดจังหวะแล้ว ยังมีความหมายว่า เก เฉ ไม่ตรงด้วย โดยมากมักใช้แก่แขน ขา เช่น ขาฉิ่ง แขนฉิ่ง คือ แขน ขาไม่ตรง
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วน ของพยัญชนะตัว ฉ ที่ ฉัน ได้ ฉวย คือ คว้า จับ หรือหยิบเอาโดยเร็ว มา ฉลองศรัทธา คือ ตอบแทนกันเต็มที่ ให้แก่ โฉมยง หมายถึง ผู้รูปร่างงามสง่าทั้งหญิงและชาย เผื่อจะเกิดถูกโฉลก คือ โชค หรือโอกาสไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี จะได้เฉลี่ย แบ่งส่วนให้เท่ากันหรือแจกจ่ายให้ทั่วกันด้วย เฉาก๊วย ขนมสีดำที่ทำจากเมือกอันได้จากการต้มเคี่ยวพรรณไม้ชนิดหนึ่ง กินกับน้ำหวานหรือใส่น้ำตาลทรายแดง หรือจะให้ฉู่ฉี่ แกงอย่างหนึ่งมาก็ได้ แล้วจะพาไปฟังเพลงฉ่อย เพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ก่อนจะขอลาไปแบบฉันทานุมัติ คือ ความเห็นชอบตามโดยความพอใจ แล้วเจอกันฉบับหน้า ตัว ช.ช้าง



http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2548&MM=7&DD=12

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น