วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย อย่าแหย่เสือ




โฮก...โฮก...เสียงร้องของสัตว์สัญลักษณ์ปีขาลดังมาแล้ว เสือน่ะไม่น่าจะใช่พระเอก น่าจะเป็นผู้ร้ายเสียล่ะมากกว่า เห็นได้จากนิทานส่วนใหญ่ที่มักจะแสดงพฤติกรรมความดุร้ายของเสือ คนไทยสังเกตอากัปกิริยาของเสือ และระแวดระวังภัยที่มาจากความดุร้ายของสัตว์สัญลักษณ์ปีขาลตัวนี้ เกิดเป็นสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับเสือมากมายทีเดียว


วัวกับเสือ แม้จะเป็นปีนักษัตรติดกัน แต่ธรรมชาติของสัตว์ทั้งสองชนิดต่างกันมาก วัวเป็นสัตว์กินหญ้า แต่เสือเป็นสัตว์กินเนื้อ วัวจึงเป็นอาหารของเสือด้วย วัวจึงกลัวเสือ เพียงได้กลิ่นสาบเสือก็ตกใจแล้ว ถ้าเผชิญหน้ากันก็จะยิ่งตื่นตระหนกหนักขึ้นไปอีก สำนวน “เขียนเสือให้วัวกลัว” จึงหมายความว่า ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายเสียขวัญหรือเกรงขาม เป็นการข่มขู่ให้ให้เกิดความเกรงกลัวนั่นเอง และในทำนองเดียวกันคนก็อาจจะขู่เสือให้กลัวได้ ดังสำนวนที่ว่า “ตีป่าให้เสือกลัว” ซึ่งมีความหมายว่าขู่ให้กลัวเช่นเดียวกัน


ป่าเป็นที่อยู่ของเสือ แต่ในขณะเดียวกัน ป่ายังคงสภาพเป็นป่าอยู่ได้เพราะมีเสืออาศัยอยู่ในป่า เพราะหากไม่มีสิ่งที่คนเกรงกลัวอาศัยอยู่ คนก็คงบุกรุกเข้าไปทำลายป่าได้ง่าย และคงทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แสดงว่าทั้งเสือและป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่นเดียวกับเรือและแม่น้ำลำคลอง การที่เรือต้องพึ่งน้ำเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่น้ำก็ต้องพึ่งเรือเหมือนกัน เพราะถ้าลำคลองใดไม่มีการขุดลอก ต้นไม่ใบหญ้าก็จะขึ้นปกคลุมจนรก เมื่อไม่มีการขุดลอกเพื่อให้เรือแล่นได้สะดวก นานๆ เข้าลำน้ำลำคลองสายนั้นก็อาจตื่นเขินได้ สำนวน “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” จึงมีความหมายว่า สรรพสิ่งต้องพึ่งพาอาศัยกัน บางครั้งก็มีการพูดต่อสำนวนออกไปอีกว่า “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้าบ่าวพึ่งนาย” หรือ “เสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดี” สำนวนที่กล่าวทำนองนี้ยังมีอีกมาก แต่มีความหมายอย่างเดียวกันคือ ล้วนแสดงถึงการพึ่งพาอาศัยกันทั้งสิ้น


นอกจากสำนวน “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” แล้ว สำนวนไทยที่กล่าวถึงเสือยังมีอีกหลายสำนวน อย่างสำนวน “ไล่เสือเข้าป่า” หมายถึงการยุยงส่งเสริมให้ทำสิ่งที่ชอบ แต่ถ้าเป็นสำนวนว่า “ปล่อยเสือเข้าป่า” มักจะใช้ในความหมายว่า ปล่อยสิ่งที่ร้ายกลับไปสู่ถิ่นเดิม ความหมายที่แฝงอยู่ก็คือ สิ่งนั้นอาจจะย้อนกลับมาทำความเดือดร้อนให้ได้ในภายหน้า จะเห็นได้ว่าป่ากับเสือเป็นสิ่งที่มักพูดถึงคู่กัน เพราะป่าเป็นที่อยู่ของเสือ เมื่อเสืออยู่ในป่าเสือก็เป็นเจ้าถิ่น ใครเข้าใกล้ก็อาจถูกทำร้ายได้ จึงมีสำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่งว่า “เข้าป่าหาเสือ” หมายถึงหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว เพราะเขาอยู่ในถิ่นของเขาดีๆ ก็เข้าไปหาเขาเอง สำนวนนี้บางครั้งมีการกล่าวเป็นสำนวนคล้องจองกันว่า “เข้าป่าหาเสือ ถ่อเรือหาความ” เป็นการรนหาความเดือดร้อนให้ตัวเองเช่นกัน


เสือเป็นสัตว์ดุร้าย จึงมีสำนวนเตือนสติไว้ว่า “อย่าเอาไม้ไปแหย่เสือ” หมายถึง อย่าอุตริไปสะกิดคนดุร้าย หรือไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่นเดียวกับสำนวนเชิงเตือนที่ว่า “อย่าขี่เสือเล่น” ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกันคือ อย่าล้อเล่นกับสิ่งที่เป็นอันตราย สำนวนที่มีความหมายคล้ายคลึงกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาเรือเข้ามาขวาง” หากพิจารณาตามตัวอักษรก็คือ เมื่อพายเรือไปและแวะจอดบริเวณที่เป็นป่าโดยไม่รู้ว่าบริเวณนี่นมีเสืออาศัยอยู่อาจโดนเสือกัดได้ เช่นเดียวกับตัวมอดซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็กชอบเกาะและกัดกินวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะไม่จนเป็นรูพรุนไปหมด ถ้าเอาไม้ไปวางบริเวณที่มอดอาศัยอยู่ ไม้ก็เป็นอาหารอันโอชะของมอดเช่นกัน สำนวนนี้บางทีก็ใช้ว่า “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอกเอาไม้มาแหย่” ซึ่งทั้งสองสำนวนหมายถึงทำสิ่งที่ไม่รู้ จะมีภัยเกิดขึ้นแก่ตนเอง เมื่อสัตว์ที่ดุร้ายเช่นเสือนอนหลับ แม้ดูภายนอกจะเห็นว่าไม่มีพิษสง แต่เสือก็ยังคงเป็นเสือ ความดุร้ายของเสือยังคงมีอยู่ในตัวของมัน จึงมีสำนวนว่า “เสือนอนว่าเสือกลัว” ซึ่งพูดเป็นถ้อยคำธรรมดาให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าเสือนอนหลับอย่าคิดไปว่าเสือกลัว เป็นการเตือนสติว่า ผู้ที่ทำท่าสงบเสงี่ยมดูเหมือนไม่มีพิษสงก็อาจทำร้ายเอาได้ นอกจากนั้นยังมีสำนวนไทยที่เตือนไว้ว่า “เสือนอนอย่าเอาไม้ไปแหย่” และ “อย่าแหย่เสือหลับ” หมายถึง อย่าก่อเรื่องกับผู้ดุร้ายหรือผู้มีอำนาจ เพราะแม้ภายนอกจะดูสงบนิ่ง แต่ถ้าผู้นั้นโกรธหรือไม่พอใจขึ้นมาก็สามารถทำร้ายหรือทำให้เกิดอันตรายแก่เราได้ ยิ่งถ้าเสือไม่ได้นอนหรือไม่ได้หลับ ถ้าเอาไม้ไปแหย่เข้าก็ยิ่งเกิดอันตรายได้ง่ายขึ้น จึงมีสำนวนว่า “เอาไม้ไปแหย่เสือ” หมายถึง ล้อเล่นกับสิ่งที่เป็นอันตราย แม้ไม่ได้เป็นสำนวนเชิงห้ามปรามเหมือนสำนวนต้นๆ แต่ก็เป็นการเตือนให้ตระหนกถึงภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นกัน


สำนวนว่า “ชาติเสือไม่ทิ้งลาย” ตีความได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ในทางไม่ดีมุ่งไปที่ความดุร้ายและความร้ายกาจของเสือ จึงหมายถึง ผู้ที่เคยเกะกะเกเรเป็นอันธพาลก็ย่อมต้องเป็นเช่นนั้นจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประพฤติดีไม่ได้ แต่ความหมายในทางที่ดีอาจหมายความว่า เชื้อสายคนเก่งย่อมมีความเก่งหรือมีฝีมือ บางครั้งมีสำนวนต่อท้ายอีกเป็น “เสือไม่ทิ้งลาย ควายไม่ทิ้งเหล่า” หรืออาจจะเป็นการนำเสือมาเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกล้าสามารถย่อมทำตัวให้สมกับความเก่งนั้น โดยมากมักเปรียบกับผู้ชายที่เก่ง จึงมีสำนวนว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” หมายถึง เกิดเป็นผู้ชายต้องรักษาชื่อเสียงเหมือนเสือต้องรักลายของมัน นอกจากจะนำเรื่องราวของ “เล็บเสือ” มากล่าวเชิงเปรียบเทียบแล้ว คนไทยยังนำ “เล็บเสือ” มากล่าวเชิงเปรียบในสำนวนอีกด้วย ธรรมชาติของเสือจะมีเล็บหดเก็บไว้ในระหว่างซอกเนื้อที่อุ้งเท้าของมัน เมื่อเสือจะล่าเหยื่อหรอต่อสู้กับศัตรูจึงจะกางเล็บออกมาให้เห็นความแหลมคมน่ากลัว จึงมีสำนวน “เสือซ่อนเล็บ” ซึ่งสามารถตีความได้เป็นสองนัยทั้งทางดีและทางไม่ดี คือ อาจหมายถึงผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถ มีฝีมือแต่นิ่งขรึมเก็บไว้ไม่โอ้อวดหรือแสดงท่าทีให้ผู้อื่นรู้ หรืออาจหมายถึงผู้ที่เก็บความรู้สึกไว้ได้ดี การตีความดังกล่าวเป็นการตีความในทางที่ดี ส่วนการตีความในทางที่ไม่ดี อาจหมายถึงผู้ที่มีเลห์กลอยู่ในใจแสร้งแสดงว่าไม่มีพิษสง แต่รอจังหวะที่จะตระครุบเหยื่ออยู่ก็ได้ เรื่องของเล็บเสือยังมีการนำมาใช้ในสำนวน “เสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอก” ซึ่งหมายถึงคนที่ฮึดสู้จนสุดฤทธิ์ และยังนำเล็บเสือมากล่าวถึงในสำนวน “ถอดเขี้ยวถอดเล็บ” หมายถึง ละทิ้งลักษณะเก่งกาจหรือร้ายกาจที่มีอยู่ประจำตัวไม่แสดงลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น