วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประวัติแตรวงชาวบ้าน


แตรวงเป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงในกิจกรรมของชาวบ้าน แตรวงใช้สำหรับการประโคมและการแห่ในงานต่างๆ อาทิ งานศพ งานบวช งานแต่งงาน งานสมโภชและงานสังสรรค์รื่นเริง แตรวงนิยมใช้ทั่วไปในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการประโคมและการแห่ของภาคกลาง


แตรวงเป็นวงดนตรีที่เริ่มจากกองดุริยางค์ของทหาร ซึ่งทหารแตรชุดแรกจากอังกฤษเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2395 โดยมีครูแตร ร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas Gerge Knox) และร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) เป็นครูฝึกทหารแตรที่อยู่ที่วังหลวงและวังหน้า โดยใช้เพลงกอดเสฟเตอะควีน (God save the Queen) ทหารแตรส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีปี่พาทย์ เล่นดนตรีในวงต่างๆเมื่อเป่าแตรได้ ก็นำแตรไปเป่าเพลงปี่พาทย์ด้วย จึงกลายเป็นแตรวงผสมปี่พาทย์เล่นในงานต่างๆกระจายไปสู่ชาวบ้านทั่วไป


เครื่องดนตรีของแตรวงที่นิยมใช้ประกอบด้วย เครื่องเป่า และเครื่องจังหวะเป็นหลัก อาทิ ทรัมเป็ต ทรอมโปน คอร์เน็ต บาริโทน(ยูโฟเนียม) ทูบา ฮอร์น คลาริเนต แซกโซโฟน และเครื่องจังหวะกลองมริกัน (กลองใหญ่) ฉิ่งฉาบ กรับ นิยมบรรเลงคู่กับปี่พาทย์ เมื่อใช้แห่ก็นิยมผสมกับวงกลองยาว แตรวงได้พัฒนาอยู่ในสังคมชาวสยามร่วม 150 ปี


ปัจจุบันกิจกรรมของแตรวงซบเซาและเล่นกันน้อยลง เนื่องจากสังคมเปลี่ยนไปตามงานต่างๆ ไม่ค่อยนิยมการแห่อีกต่อไป งานบวช งานศพมีการแห่น้อยลง งานประโคมนาค งานประโคมศพ มีกิจกรรมอื่นๆแทน หากมีงานราชการก็มีวงโยธวาทิตของโรงเรียนเข้ามาทำหน้าที่ทดแทน ทำให้แตรวงมีงานน้อยจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตามในต่างจังหวัดชาวบ้านก็ยังมีแตรวงประโคมและแห่อยู่บ้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น