วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รู้หรือไม่ "คำว่าฟันธง มีที่มาอย่างไร"


ก่อนจะพูดถึงคำว่า "ฟันธง" ขอพูดถึงคำว่า "ฟัน" ที่เป็นคำกริยาก่อน ดร. นิตยา กาญจนะวรรณ อธิบายไว้ว่า คำว่า ฟัน นอกจากมีความหมายว่าเอาของมีคมฟาดลงไปแล้ว ปัจจุบันคำนี้มีความหมายที่ขยายออกไปเป็นจำนวนมาก เช่น


กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ตัวอย่างประโยค "งานนี้ฟันไปหลายล้านบาท"

-จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างประโยค "เจ้านายเป็นคนตรง ถ้าลูกน้องทำผิดก็จะฟันทันที"

-กระทำการทางเพศ

ตัวอย่างประโยค "ยายคนนั้นน่ะ กูฟันไปเรียบร้อยแล้ว"

ทีนี้มาถึงคำว่า "ธง" และ "ฟันธง"


คำว่า ธง ตรงกับคำว่า flag ในภาษาอังกฤษ The American Heritage Dictionary of the English Language กล่าวไว้ว่า

หมายถึงการส่งสัญญาณให้หยุดได้ด้วย ดังในความว่า "flag down a passing car"


คำว่า flag down เมื่อแปลมาเป็นไทย ก็กลายเป็น "ฟันธง" ไปได้อย่างไม่เคอะเขิน กิริยาฟันธงนี้ จะเห็นได้ในกีฬาแข่งรถ ใช้เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเส้นชัยแล้ว


ธง นอกจากเป็นอุปกรณ์ซึ่งใช้เป็นอาณัติสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ความหมายยังขยายออกไป หมายถึง แนวคำตอบสำหรับข้อสอบ ได้ด้วย


ตัวอย่างประโยค "อาจารย์ใหญ่ให้ธงคำตอบมาแล้ว เดี๋ยวพวกเราช่วยกันตรวจข้อสอบพวกนี้ก็ได้"


คำอธิบายความหมายนี้ ตรงกับข้อมูลที่ "ซองคำถาม" ได้มาจากเว็บไซต์ pantip.com ห้องสมุด มีผู้เข้ามาอธิบาย (ขออภัยที่ลืมชื่อผู้ให้ข้อมูล) ว่า


"ศัพท์นี้ใช้มาก่อนในวงการนิติศาสตร์ เวลาตอบข้อสอบหรือตัดสินคดีความ 'ธง' คือประเด็นใหญ่ หลักใหญ่ คือตัวบทมาตราข้อกฎหมายหลักที่นำมาปรับใช้กับกรณีนั้นหรือโจทย์ข้อสอบนั้น การให้คะแนนของอาจารย์จะแบ่งเป็นส่วน ๆ แต่ส่วนแรกต้องถูกต้องเสียก่อน เรียกว่า 'ธงถูก' หรือ 'ฟันธงถูก' สามารถอ้างอิงบทมาตราได้ชัดเจน ถ้าไม่ถูกตั้งแต่ต้น อาจารย์จะไม่อ่านต่อ ไม่ให้คะแนนเลย แต่ถ้าธงถูก ฟันธงถูก ก็ได้คะแนนไปเกินครึ่ง แต่จะได้มากได้น้อยแค่ไหนต้องตามไปดูอรรถาธิบายขั้นต่อ ๆ ไป การตอบ 'ฟันธง' ก็คือสรุปให้ชัดเจนก่อน ณ เบื้องต้นว่าหลักการคืออะไร จากนั้นจึงค่อย ๆ สาธยายเหตุผล"


สรุปว่า ปัจจุบันคำ "ฟันธง" มีความหมายว่า ตัดสินว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตัวอย่างประโยค "การชกมวยนัดนี้ ฟันธงลงไปได้เลยว่าฝ่ายแดงจะต้องเป็นฝ่ายชนะ" โดยคำนี้มีที่มาจากแวดวงการเรียนนิติศาสตร์


ที่มา ซองคำถาม นิตยสารสารคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น