วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ไม้ตะพด อาวุธของชายไทยโบราณ

ปัจจุบันเมื่อเอ่ยถึง “ ไม้ตะพด ” คนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าก็คือ สิ่งเดียวกับ “ ไม้เท้า ” ที่คนแก่ถือไว้ยันตัวเวลาเดิน ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว แม้ไม้ทั้งสองจะมีรูปร่างคล้ายๆกัน แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์การใช้สอยที่ต่างกันมาก ดังที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจะขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับไม้ตะพดมาเสนอให้ทราบ ดังต่อไปนี้
ในสมัยโบราณ “ ไม้ตะพด ” จัดเป็นเครื่องป้องกันตัวชนิดหนึ่งสำหรับผู้ชายโดยทั่วไป ด้วยสมัยก่อนถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้านจะถือดาบออกไปนอกบ้านหรือจะพกดาบเปลือยฝักไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้ เนื่องจากมีพระราชกำหนดห้ามไว้ ยกเว้นบรรดาพวกทหาร ตำรวจ และกรมการเมืองที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่คนเหล่านี้หากถอดดาบออกจากฝักโดยบันดาลโทสะ เมาสุรา หรือโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะต้องได้รับโทษเช่นกัน และด้วยข้อห้ามมิให้พกดาบในที่สาธารณะดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้ผู้ชายสมัยก่อนเลี่ยงมาใช้ “ ไม้ตะพด ” เป็นอาวุธแทนดาบ และมักมีไม้ตะพดถือไว้ประจำมือทุกคน โดยนิยมถือเมื่อจะลงจากเรือนไปยังที่ต่างๆ เช่น ไปช่วยงานบวช งานแต่งงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะไม้ตะพดสามารถใช้เป็นสิ่งป้องกันอันตรายมิให้กล้ำกรายมาถึงตัวได้โดยง่าย อย่างเช่นเมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่นยามค่ำคืน ก็ใช้ระพุ่มไม้ให้เกิดเสียงดังเพื่อให้สัตว์ตกใจหนีไปก่อน นอกจากนี้ ผู้ชายชาวบ้านสมัยก่อนยังนิยมถือไม้ตะพดเพื่อแสดงศักดิ์ศรีของลูกผู้ชายด้วย กล่าวคือ หากผู้ใดไม่ถือไม้ตะพดติดมือไปยังต่างถิ่น ผู้คนในถิ่นนั้นๆจะถือว่าผู้ชายที่มามือเปล่าที่มาเหยียบถึงถิ่นตนจะมาลองดี
คำว่า “ ไม้ตะพด ” มีผู้รู้และเชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ได้บอกว่ามิใช่เป็นคำไทย แต่เป็นคำมาจากภาษามอญ โดยคำว่า “ ไม้ตะพด ” มาจากคำว่าว่า “ เละอะพด ”
ไม้ตะพดที่นิยมใช้กันเมื่อก่อน ส่วนมากจะทำมาจากไม้ไผ่ ที่เรียกว่า ไม้ไผ่เปร็ง โดยเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี เนื้อแน่นตัน เพราะต้องการให้มีน้ำหนัก เมื่อตัดไม้ไผ่มาแล้วจะต้องนำมาตากให้แห้งสนิท จึงค่อยนำมาตัดแต่งลำให้ตรง ด้วยการลนไฟอ่อนๆจนลำไม้ตรงตามต้องการ แล้วใช้กาบมะพร้าวชุบทรายละเอียดเคล้ากับขี้เถ้าและน้ำ ขัดถูไม้ตะพดจนสะอาดหมดจดและผิวเกลี้ยงเรียบ แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จการขัดผิวไม้ หรือบางคนก็อาจจะมีการตกแต่งผิวไม้ให้สวยงามด้วยการทำให้เป็นลวดลายต่างๆซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น ใช้วิธีเทตะกั่ว นาบด้วยโลหะเผาไฟ หรือวิธียอมสี เป็นต้น
ในสมัยก่อนผู้ที่นิยมไม้ตะพดสามารถเลือกซื้อเลือกหาไม้ตะพดที่ทำสำเร็จรูปแล้วได้ตามงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานไหว้พระพุทธบาทสระบุรี หรืองานไหว้พระประจำปีของบางวัด อย่างไรก็ดี ต่อมาภายหลังคนส่วนใหญ่ตั้งข้อรังเกียจว่า พวกผู้ชายที่ถือไม้ตะพดเป็นพวกนักเลงหัวไม้ เกกมะเหรกเกเร ผู้ชายในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่จึงเปลี่ยนไปนิยมถือ “ ไม้ถือ ” แทน ซึ่งก็คือ ไม้เท้าที่สั่งจากต่างประเทศหรือทำขึ้นเองโดยใช้ไม้ที่มีเนื้อไม้เป็นลายต่างๆในตัว ด้วยเหตุนี้ ไม้ถือจึงได้รับความนิยมให้เป็นเครื่องประดับส่งเสริมบุคลิกภาพ ฐานะ และหน้าตาของผู้ถือตามคุณค่าและราคาของไม้ถือนั้นๆ ส่วนไม้ตะพดก็กลายมาเป็นเพียงไม้ถือติดมือเพื่อป้องกันสุนัขหรือคนร้ายมิให้มาทำอันตรายได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนไทยส่วนมากมีประเพณีนิยมที่จะใช้สอยแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลโดยมักกำหนดเป็นตัวเลขบ้าง จำนวนบ้าง สัดส่วนบ้าง ซึ่งข้อกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวนี้ เรียกกันว่า “ โฉลก ” (ตามพจนานุกรม คำนี้ หมายถึง โชค โอกาส หรือลักษณะที่มีทั้งส่วนดีและไม่ดี มักกำหนดด้วยการดูลักษณะ วัดขนาดหรือนับจำนวนของคน สัตว์ สิ่งของว่าเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล) ซึ่งในเรื่อง “ ไม้ตะพด ” นี้ โบราณเขาก็มีการบัญญัติโฉลกเอาไว้ให้เลือกไม้ตะพดที่เป็นสิริมงคลได้หลายวิธี เช่น
โฉลกที่ ๑ มีว่า กูตีมึง และ มึงตีกู โฉลกนี้ใช้สำหรับนับข้อบนไม้ตะพด โดยให้ขึ้นต้นที่หัวไม้ตะพดข้อแรกว่า “ กูตีมึง ” ข้อที่สองว่า “ มึงตีกู ” แล้วว่าสลับกันไปจนหมดข้อสุดท้ายที่ปลายไม้ หากตกที่ “ กูตีมึง ” จัดว่าเป็นไม้ตะพดดี แต่ถ้าตกที่ “ มึงตีกู ” แบบนี้ถือว่าไม่ดี
โฉลกที่ ๒ มีคำว่า คุก ตะราง ขุนนาง เจ้าพระยา โฉลกนี้ใช้นับขนาดความยาวของไม้ตะพด โดยกำมือให้รอบส่วนหัวไม้แล้วจึงว่า “ คุก ” คำแรก แล้วเอามืออีกข้างกำต่อลงมาพูดคำว่า “ ตะราง ” จากนั้นเปลี่ยนมือแรกมากำต่อลงไปเป็นลำดับที่สามแล้วว่า “ ขุนนาง ” แล้วเปลี่ยนมือที่กำอันดับสองมากำต่อไปเป็นอันดับ ๔ แล้วว่า “ เจ้าพระยา ” เอามือกำสลับกันไปเรื่อย พร้อมทั้งท่องทั้งสี่คำสลับกันไป จนสุดปลายไม้ หากสุดปลายไม้ตกคำว่า คุกและตะราง ถือว่าเป็นไม้ตะพดไม่ดี หากตกคำว่า ขุนนาง เสมอตัว แต่ถ้าตกคำว่า เจ้าพระยา ถือว่าดีเลิศ
อนึ่ง แม้จะมีเรื่องโฉลกมาเกี่ยวข้อง แต่โดยทั่วไปแล้ว ความยาวของไม้ตะพดที่ชาวบ้านใช้ส่วนมากจะกำหนดให้ยาวประมาณ ๘ กำ กับเศษอีก ๔ นิ้ว หรือประมาณ ๑ เมตร ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะพอดีกับกำลังมือ
ปัจจุบันสภาพสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย แม้การดำรงชีวิตจะยังต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆรอบตัวเมื่อออกนอกบ้านอยู่เช่นเดิม แต่ลักษณะของไม้ตะพดก็ไม่เอื้อให้นำติดตัวไปใช้ได้ดังสมัยก่อน อีกทั้งคนรุ่นใหม่อาจจะเห็นว่าไม้ตะพดมีลักษณะเดียวกับไม้เท้าที่คนแก่ใช้ ไม้ตะพดจึงค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมในที่สุด จะเหลือก็คงเพียงเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตหนุ่มไทยในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น


http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=2&DD=3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น