ในพยัญชนะ ๔๔ ตัวของไทย ตัว ค.ถือเป็นพยัญชนะตัวที่ ๔ ถัดจาก ฃ พยัญชนะตัวที่สาม ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว ค. เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดแม่กกในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสฤต เช่น โรค มรรค มารค เป็นต้น
พยัญชนะ ค.ตัวแรกที่เรารู้จักและคุ้นหูมาแต่เด็ก ก็คือ ค.ควาย เป็นชื่อเรียกสัตว์สี่เท้า เคี้ยวเอื้อง(อาการที่สัตว์สำรอกอาหารออกมาเคี้ยวให้ละเอียดอีกที) มีเท้าเป็นกีบคู่ รูปร่างใหญ่สีดำหรือสีเทา บางตัวมีเขาโค้งยาวบางตัวก็สั้น มีทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ควายดังๆที่เป็นที่รู้จักกันดีในวรรณกรรม คือ ทรพี ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกลูกที่อกตัญญูต่อพ่อแม่ด้วย เพราะในเรื่องทรพีเป็นควายที่คอยวัดรอยเท้าทรพา ผู้พ่อ เพื่อจะท้าสู้และได้ฆ่าทรพาตายในที่สุด อีกตัวคือ ควายบุญเลิศ ซึ่งมีเขาโค้งยาวสวยงามมาก เรียกได้ว่าเป็นตัวเอกตัวหนึ่งในหนังเรื่อง “ศึกบางระจัน” เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี แม้ควายจะเป็นสัตว์ที่อาจกล่าวได้ว่ามีบุญคุณต่อคน เพราะช่วยทำไร่ไถนา ทำให้เรามีข้าวกิน แต่หากใครก็ตาม ถูกเรียกว่า “ไอ้ควาย” ล้วนเลือดขึ้นหน้าและเกิดอารมณ์โมโหโกรธาทั้งสิ้น เพราะคำๆนี้ กลายเป็นคำด่า หมายถึง คนโง่ คนเซ่อ หรือคนตัวใหญ่ แต่ไม่ฉลาด แต่หากพูดถึง ควายเหล็ก แล้วจะหมายถึง รถไถนา ถ้าเป็น ควายเขาเกก ก็หมายถึง ควายที่มีเขาเฉออกไม่เข้ารูปกัน แล้วยังหมายไปถึงคนอันธพาลเกะกะเกเรอีกด้วย ส่วนควายธนู เป็นของขลังชนิดหนึ่ง ทำเป็นรูปควายหรือเขาควาย ใช้เวทย์มนตร์ทางไสยศาสตร์เสกเป่าไปทำร้ายผู้อื่นหรือกันไม่ให้ผู้อื่นมาทำร้ายตัวเรา
นอกจาก ค.ควาย ที่เป็นสัตว์แล้ว สัตว์อื่นๆที่ขึ้นด้วยพยัญชนะตัว ค ก็ยังมีอีกหลายชนิด ได้แก่ คชสาร อันหมายถึง ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรา คชสีห์ เป็นสัตว์ในนิยาย มีรูปเป็นเหมือนราชสีห์ แต่มีงวงเหมือนช้าง ค่าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คล้ายลิง คางเบือน เป็นปลาน้ำจืด ไม่มีเกล็ด คุ่น หรือ บึ่ง เป็นชื่อแมลงขนาดเล็กเท่าแมลงหวี่หรือโตกว่าเล็กน้อย เจาะดูดเลือดคนและสัตว์เป็นอาหาร อยู่ชุกชุมตามบริเวณชายน้ำ ชายทะเลและป่าทึบ เคย ชื่อสัตว์ทะเลหลายชนิดหลายสกุล รูปร่างคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กมาก ลำตัวใสหรือขุ่น ทุกชนิดเนื้อยุ่ย เหมาะสำหรับใช้หมักเกลือทำกะปิและน้ำเคย เค้า เป็นชื่อนกหลายชนิด หัวโต ตาโต ออกหากินกลางคืน เช่น เค้าโมง บางทีก็เรียกนกฮูก
สำหรับ ค. คน นั้น ถ้าเป็นคำนามมีความหมายว่า มนุษย์ ที่แปลว่า สัตว์ที่รู้จักเหตุผล และมีจิตใจสูง แต่หากเป็นคำกิริยา หมายถึง การเอามือหรือสิ่งอื่นกวนเพื่อทำให้สิ่งที่นอนก้น หรือที่เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนให้กระจายขยายตัว หรือกวนสิ่งต่างๆให้เข้ากัน นอกจากนี้ ยังมีคนในลักษณะต่างๆอีก เช่น คนดิบ หมายถึง ชายที่ยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ คนเมือง คือ คำเรียกคนพื้นเมืองถิ่นพายัพ คนพื้นเมือง คือ ชนที่ได้อาศัยอยู่ในดินแดงนั้นมาแต่ดั้งเดิม คนมีสี เป็นคำพูด หมายถึง คนในเครื่องแบบ เช่น ทหารหรือตำรวจ คนหลักลอย คือ คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือไม่มีฐานะอะไรให้เชื่อถือได้ คนโปรด หมายถึง ผู้ที่เป็นที่รักใคร่มากกว่าคนอื่นๆ คนเผือก คือ คนที่มีเซลล์สีผิวผิดปกติ มีร่างกายซีดขาวกว่าคนธรรมดา ผมขาว นัยน์ตาสู้แสงไม่ได้ ส่วนคนดอย คือ ชาวเขา
อนึ่ง สำนวน ภาษิต หรือคำที่ขึ้นด้วยพยัญชนะตัว ค. ก็มีหลายสำนวนที่น่าสนใจ อาทิ คนดีผีคุ้ม หมายถึง คนทำดีเทวดาย่อมคุ้มครอง มักใช้คู่กับ คนร้ายตายขุม คือ คนทำชั่วย่อมตกนรก มักเรียกรวมกันว่า คนดีผีคุ้ม คนร้ายตายขุม คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ หมายถึง คนรักมีน้อย แต่คนชังมีมาก คนตายขายคนเป็น หมายถึง การจัดงานศพอย่างใหญ่โต ทำให้ต้องจ่ายเงินมาก หรือทำให้เป็นหนี้สิน คดในข้องอในกระดูก หมายถึง คนที่มีสันดานคดโกง ไว้ใจไม่ได้ คนจรหมอนหมิ่น หมายถึง คนที่ไม่มีหลักแหล่ง หากจะคบหาต้องระมัดระวัง คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล แปลว่า หากเราคบคนชั่วก็จะถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี แต่ถ้ารู้จักคบคนดีก็จะได้ผลดีแก่ตัวเอง คอหอยกับลูกกระเดือก เป็นสำนวนหมายถึง คนที่เข้ากันได้ดี เป็นคนลักษณะเดียวกัน คอหยักๆสักแต่ว่าคน หมายถึง คนที่ไม่มีความคิด คนที่ไม่รับผิดชอบ คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล เป็นคำเตือนหมายถึงว่าเมื่อออกทะเล ไม่ควรประมาท เพราะมีโอกาสเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา
คำที่ขึ้นด้วย ค.อันเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่น่ารู้ก็มี เช่น คดีแพ่ง จะหมายถึง คดีที่ฟ้องร้องเกี่ยวกับสิทธิส่วนเอกชน คดีอาญา คือ ข้อฟ้องร้องที่เกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายอาญา คดีมโนสาเร่ หมายถึง คดีอันมีทุนทรัพย์หรือค่าเช่าจำนวนน้อย ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด หรือหมายถึงคดีเล็กๆน้อยๆ คดีอนาถา คือ คดีแพ่งที่ศาลให้ฟ้องหรือต่อสู้คดี โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วน คดีดำ คือคดีที่ยังไม่ยุติในชั้นศาล คดีแดง คือ คดีที่ยุติแล้วในชั้นศาล คดีอุทลุม ในสมัยโบราณ หมายถึง คดีอุกฉกรรจ์ อันได้แก่ คดีฟ้องร้องกล่าวหากัน ๑๔ ประการ ซึ่งผู้อื่นจะช่วยแก้ต่างไม่ได้ ผู้ถูกถามต้องให้การเอง เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบกระสือ ทำยาให้ท่านตายและเป็นหมอทำให้ท่านตาย เป็นต้น แต่ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมายถึง คดีที่ลูกหลานฟ้องร้องบุพการีต่อศาล ทั้งคดีแพ่งและอาญา ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ค.ที่เป็นเรื่องธรรมชาติได้แก่ คงคา หมายถึง แม่น้ำ คคนางค์ (คะคะนาง)แปลว่า ท้องฟ้า คีรี แปลว่า ภูเขา แคว หมายถึง ลำน้ำที่ไหลมารวมกับลำน้ำอีกสายหนึ่ง เป็นต้น ส่วนที่เกี่ยวกับเทพนิยายต่างๆ เช่น คเณศ หรือ พระพิฆเนศวร หมาย เทพที่มีเศียรเป็นช้าง ถือว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ เชื่อกันว่าบูชาแล้วจะช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ ครุฑ เป็นพญานกในนิยาย เป็นพาหนะของพระนารายณ์ และยังใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายทางราชการ คนธรรพ์ เป็นชาวสรรค์พวกหนึ่ง มีความชำนาญด้านวิชาดนตรีและขับร้อง
ค.ที่มีความหมายไม่ค่อยดีและคนไม่ค่อยชอบเท่าไร เช่น โคม่า คือภาวะหมดสติขั้นรุนแรงซึ่งอาจจะเกิดจากโรค การบาดเจ็บหรือยาพิษ คัณฑมาลา คือ ฝีที่ขึ้นเป็นแถวตามคอ คัณฑสูตร คือ ฝีที่ชอบขึ้นบริเวณขอบทวารหนัก คุดทะราด คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่ง เป็นแผลเรื้อรัง และมักมีกลิ่นเหม็น ส่วน ค –ย ซึ่งเป็นคำไม่สุภาพ นอกจากจะหมายถึง อวัยวะสืบพันธุ์ของชายหรือสัตว์เพศผู้บางชนิดแล้ว ในพจนานุกรมของมติชน ยังให้ความหมายไว้อีกว่า สิ่งที่ใส่เข้าไปในช่องที่ครือกัน และเป็นของที่สร้างสำหรับกัน เช่น ที่กดขนมจีน ซึ่งชิ้นหนึ่งเป็นกระบอก อีกชิ้นหนึ่งเป็นเดือยสำหรับกด และถ้าเป็นภาษาพูดยังมีความหมาย เป็นคำด่าแสดงความไม่พอใจหรือแดกดันด้วย
สำหรับ ค.ที่คนชอบและมีความหมายดี เพราะหมายถึงการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คงจะได้แก่ ค คู่ทั้งหลาย เช่น คู่ครอง คู่รัก คู่คิด คู่เคียง คู่ใจ คู่ชีพ คู่ตุนาหงัน คู่บารมี คู่สร้างคู่สม เป็นต้น ส่วนคู่ตรงกันข้าม ที่ชวนทะเลาะวิวาทและคนไม่อยากเป็นก็มี คู่แค้น คู่เวรคู่กรรม คู่อาฆาต คู่ปรับ คู่พิพาท และคู่ความ เป็นต้น
วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น