วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ควั่นเชือกวัวควายสายไปจนถึงเกวียน




วัว...สัตว์สัญลักษณ์ของปีฉลูยังเป็นพระเอกต่อจากฉบับที่แล้ว พระเอกรอเข้าฉากพร้อมแล้ว แอคชั่น...เริ่มเรื่องเลยดีกว่า หลายคนอาจชินกับคำว่า “ควั่น” เชือก มากกว่า ”ฟั่น” เชือกในความหมายที่ถูกต้อง “ควั่น” เป็นคำกริยา หมายถึง การทำให้เป็นรอยด้วยคมมีดโดยรอบ เช่น ควั่นอ้อย เป็นการใช้มีดทำให้ลำต้นอ้อยเป็นรอยโดยรอบและเมื่ออ้อยขาดหลุดออกมาเป็นข้อๆ ก็เรียกว่าอ้อยควั่น เราจึงไม่ใช้ ”ควั่นเชือก” แต่ใช้ ”ฟั่นเชือก” เพราะการฟั่นเป็นการทำสิ่งที่เป็นเส้นให้เข้าเกลียวกันเป็นเชือก


เชือกเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการเลี้ยงวัว เพราะใช้ในการสนตะพายและผูกวัวไว้กับหลัก สำนวนที่ว่า “ไม่พบวัวอย่าฟั่นเชือก” จึงเป็นการเตือนสติว่าม่ให้หวังแต่จะได้เอาข้างหน้า เหมือนยังไม่ทันพบวัวก็ฟั่นเชืกเตรียมจะผูกวัวเสียแล้ว อาจจะไม่พบวัวและเตรียมไว้เก้อก็ได้


บางครั้งก็มีการกล่าวเป็นสำนวนคล้องจองกันว่า ”ไม่พบวัวอย่าฟั่นเชือก ไม่พบเรือกอย่าตั้งร้าน” เรือก คือ ไม้ไผ่ที่ผ่าอกกเป็นซีกๆ แล้วถักด้วยหวายสำหรับฟั่นหรือทำเป็นรั้วเมื่อยังไม่มีเรือกก็ใช้เป็นที่นั่งที่นอนไม่ได้ สำนวนนี้จึงใช้ในความหมายเช่นเดียวกันว่า ทำอะไรต้องมีเหตูผลหรือสมควรจะทำไม่หวังแต่จะได้ข้างหน้าอย่างเดียว


เวลาชาวบ้านผูกวัวไว้กับหลัก มักใช้เชือกที่มีความยาวพอสมควร เพื่อให้วัวสามารถเดินกินหญ้ารอบๆ หลักได้เป็นบริเวณกว้างพอสมควร แต่วัวบางตัวก็เดินวนรอบหลัก พอวนหลายๆ รอบเชือกก็จะสั้นเข้าทุกทีๆ ในที่สุดลำตัวของวัวก็จะเข้าไปติดกับหลักจึงเกิดสำนวน”วัวพันหลัก” หมายถึง อาการที่วกกลับไปหาจุดเริ่มต้น ใช้กับคำพูดหรือการกระทำที่ย้อนกลับไปตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้เริ่มเรื่องหรือต้นตอของเรื่อง


อีกสำนวนหนึ่งมักใช้ในการชักนำหญิงชายให้ได้รู้จักกันว่า ”แม่สื่อแม่ชักไม่ได้เจ้าตัวเอาวัวพันหลัก” หมายถึง ชายที่ใช้แม่สื่อไปติดต่อหญิงที่ตนชอบ ครั้นไม่ได้ตัวหญิงนั้น ก็เลยได้แม่สื่อเป็นภรรยาเสียเอง คนโบราณจึงมักเตือนว่า “อย่าริเป็นแม่สื่อแม่ชัก” เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมในที่สุดก็ลงเอยที่ตัวแม่สื่อเอง คือกลับไปได้กับคนที่ตัวเป็นสื่อให้เสียเอง ชาวกรมประชาสัมพันธ์คงเคยได้ยินสำนวนว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” เพราะช้างที่มีขนปลายหางเป็นสีขาวหรือช้างเผือกเป็นช้างที่มีลักษณะดี เช่นเดียวกับผู้หญิงที่มีแม่เป็นกุลสตรี กิริยามารยาทเรียบร้อย ก็มักได้รับการอบรมให้มีคุณลักษณะเดียวกัน


การเปรียบเช่นนี้มิได้มีการเปรียบกับช้างอย่างเดียวแต่มีสำนวนทำนองนี้ที่เกี่ยวกับวัวเช่นกัน คือ “ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” เพราะเชื่อกันว่าวัวที่มีลักษณะดีจะมีขนปลายหางเป็นพู่เหมือนใบโพ เมื่อทราบวิธีการดูแล้วก็จะสามารถเลือก “ช้าง” เลือก “นาง” และเลือก “วัว” ซึ่งมีลักษณะดีได้ถูกต้อง สำนวนทั้งสองสำนวนนี้จึงเป็นนความเปรียบให้รู้จักพิจารณาลักษณะของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่ผู้ชายเลือกมาเป็น”คู่ครอง”


นอกจากหางวัวแล้ว ยังมีสำนวนที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของวัวอีก ได้แก่ “วัวเขาเกก” “วัวลืมตีน” และ “วัวสันหลังหวะ” “เกก” หมายถึง เก ใช้รียกเขาวัวควายที่ปลายเฉออกไม่เข้ารูปกันว่า “เขาเกก” สำนวน “วัวเขาเกก” จึงหมายถึง คนพาลเกเร


สำนวนว่า “วัวลืมตีน” ใช้ในความหมาย ๒ อย่าง อย่างแรกไม่ค่อยมีใครใช้กันบ่อยนัก หมายถึง ใจลอย หลงๆ ลืมๆ เผอเรอ คนส่วนมากจะใช้ในความหมายที่สอง คือ เหลิง เหิม ไม่เจียมตัว มักหมายถึงคนที่ได้ดีแล้วลืมฐานะเดิมของตน บางครั้งใช้เป็นสำนวนคล้องจองว่า “ข้าลืมตัว วัวลืมตีน”


ส่วนสำนวน “วัวสันหลังหวะ” มาจากวัวที่มีบาดแผลที่หลัง เมื่ออีกาบินผ่านก็ระแวงว่าอีกาจะมาจิกกินตรงแผล บางทีพูดคล้องจองว่า “วัวสันหลังขาด เห็นกาบินผาดก็ตกใจ” หมายถึง คนที่มีความผิดติดตัวมักมีอาการหวาดระแวง เกรงคนอื่นจับพิรุธได้


“คราด” เป็นเครื่องมือทำไร่ทำนา ทำเป็นซี่ๆ มีคันยาวให้วัวหรือควายลาก ใช้สำหรับกวาดลาดขี้หญ้าและทำให้ดินที่ไถแล้วร่วนซุย เมื่อตีวัววัวคงเจ็บและออกเดิน คราดก็จะถูกลากไปด้วย สำนวน “ตีวัวกระทบคราด” จึงหมายถึง ต้องการทำอะไรกับสิ่งหนึ่งแต่ทำไม่ได้ก็หันไปทำกับสิ่งอื่นให้มีผลกระเทือนถึงสิ่งที่ต้องการจะทำ เช่น โกรธคนคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ก็ไปรังควานอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องและเราสามารถทำได้เพื่อให้กระทบถึงคนที่เราโกรธ


นอกจากคราดแล้ว ช้าวบ้านยังใช้วัวลากเกวียนอีด้วย เมื่อวัวเดินไปทางใด ล้อเกวียนจะหมุนตามไปทางเดียวกัน จึงเกิดสำนวน “รอยโครอยเกวียน” หมายถึง สิ่งที่หมุนเวียนตามกัน คล้ายกับสำนวน “กงเกวียนกำเกวียน” ย่อมเวียนตามกัน ใช้ฝากแง่คิดสอนใจว่า ใครทำสิ่งใดไว้ผลที่ตามมาก็จะเป็นไปตามเหตูที่ได้กระทำไว้นั่นเอง


วัวกับควายเป็นสัตว์ที่คนไทยชอบพูดควบคู่กันไปคนมักมองวัวควายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้สำหรับใช้แรงงาน เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยฉลาดนัก จึงเกิดสำนวนว่า “โตเป็นวัวเป็นควาย” หมายถึง โตแต่ตัวแต่ไม่มีความคิด อักษราว่าสำนวนนี้ดูจะไม่เป็นธรรมกับวัวและควายนัก เพราะถ้าได้เลี้ยงและอยู่ใกล้ชิดแล้วจะพบว่า วัวควายบางตัวก็มีความฉลาดแสนรู้ไม่น้อยเหมือนกัน


สำนวนที่เกี่ยวกับวัวและควายอีกสำนวนหนึ่งคือ “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” หมายความว่า มีเรื่องยุ่งยากเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น และยังไม่ทันเสร็จเรื่องก็มีเรื่องยุ่งยากอีกเรื่องหนึ่งเกิดซ้อนขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังแก้ปัญหาเดิมเรื่องเดิมไม่สำเร็จ


เด็กสมัยก่อนไม่มีของเล่นหลายชนิดเหมือนเดี๋ยวนี้เพียงผู้ใหญ่นำดินเหนียวมาปั้นเป็นวัวควายหรือสิ่งต่างๆ ให้ก็ถือเป็นของเล่นทีใช้เล่นกันสนุกได้แล้ว เมื่อเด็กยังไม่มีฝีมือในการปั่น มักจะรบเร้าคนในบ้านให้ปั่นให้ ดังนั้น ถ้าเราไปอาศัยอยู่บ้านใครก็ควรช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าของบ้าน ถ้าช่วยงานอย่างอื่นไม่ได้ก็ช่วยทำของเล่นให้ลูกหลานในบ้านนั้นเล่นก็ยังดี จึงเกิดเป็นสำนวนว่า “อยู่บ้านท่านอย่าดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น” หมายความว่า เมื่อไปอาศัยอยู่บ้านใครก็ไม่ควรอยู่เฉยๆ ควรช่วยทำงานหรือทำอะไรต่างๆ เท่าที่จะทำได้เป็นการสอนให้เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เกียจคร้าน กตัญญูรู้คุณ และตอบแทนความเอื้ออารีของผู้อี่นเท่าที่จะทำได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น