วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสัตว์ในสำนวนไทย หมาสัตว์สี่ขา




สุนัข ตามศัพท์แปลว่า ผู้มีเล็บงาม เป็นคำสุภาพของหมา แต่สำนวนไทยส่วนใหญ่ใช้คำว่า “หมา” เมื่อกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ ถ้าใครรู้สึกว่า “หมา” ไม่สุภาพแล้วเปลี่ยนมาใช้คำว่า “สุนัข” แทนจะฟังขัดหู จะมีก็เพียงสำนวน “หมาจนตรอก” เท่านั้นที่บางครั้งใช้ว่า “สุนัขจนตรอก” ซึ่งหมายถึงคนที่จำต้องฮึดสู้อย่างไม่คิดชีวิตเพื่อเอาตัวรอดเพราะไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อจวนตัวหมดทางก็ต้องหันมาต่อสู้กันจนสุดฤทธิ์ สำนวนนี้มาจากพฤติกรรมของสุนัขเมื่อถูกไล่ต้อนวนอยู่ในตรอกที่ตันไม่มีทางหนีต่อไปก็มักจะหันมาฮึดสู้ การที่สำนวนนี้ใช้คำว่า “สุนัข” โดยไม่ขัดหูคงเป็นเพราะมีการใช้คู่กับสำนวน “เสือสิ้นตวัก” หมายถึง เสือที่เล็บหักหายเมื่ออาวุธสำคัญสำหรับใช้ตะปบคู่ต่อสู้หายไปก็ตกอยู่ในภาวะฮึดสู้เหมือนกัน จึงเกิดสำนวน “เสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอก” เพราะคำว่า “เสือ” กับ “สุนัข” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ส” เหมือนกัน และคำว่า “ตวัก” ก็มีเสียสัมผัสกับคำว่า “นัข” เมื่อใช้ด้วยกันจึงมีเสียงคล้องจอง ฟังไพเราะ เมื่อแยกกล่าวเฉพาะสำนวนที่เกี่ยวกับสุนัขจึงพบว่ามีการใช้ทั้งสำนวน “หมาจนตรอก” และ “สุนัขจนตรอก”


สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ใกล้ชิดคน บางคนรักและทะนุถนอมสุนัขมากถึงกับนำมากอดจูบอุ้มชู บางคนถึงกับให้นอนด้วย คนโบราณจะรักสุนัขมากขนาดนี้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าสังเกตจากสำนวนไทยจะเห็นว่าพฤติกรรมและเรื่องราวต่าง ๆ ของสุนัขที่นำมาเป็นสำนวนนั้น ไม่ค่อยจะบ่งบงถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของสุนัขสักเท่าไหร่เลย เช่น นิสัยของสุนัขที่ชอบเลีย ถ้าอุ้มหรือก้มหน้าลงไปใกล้สุนัข สุนัขก็จะเลียแสดงอาการรักใคร่ประจบประแจง คนไทยในสมัยก่อนไม่ได้มองในทางน่าเอ็นดู แต่กล่าวเป็นสำนวนว่า “เล่นกับหมา หมาเลียปาก” บางครั้งก็ต่อด้วยสำนวนว่า “เล่นกับสาก สากต่อยหัว” โดยสังเกตจากสากขนาดใหญ่ที่ใช้ตำข้าวซึ่งมักจะวางพิงไว้เวลาไม่ใช้งาน ถ้าใครอยู่ไม่สุขไปจับเล่น สากอาจจะเลื่อนล้มมาทับเอาได้สำนวนไทยที่มักจะใช้ต่อเนื่องกันว่า “เล่นกับหมา หมาเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว” จึงหายถึงความว่าลดตัวลงไปพูดจาเล่นหัวกับบุคคลชั้นต่ำกว่าหรือเด็กกว่าเป็นการวางตัวที่ไม่เหมาะสม ก็จะถูกตีเสมอหรือถูกลามปามได้ ปกติสุนัขที่ถูกปล่อยให้เดินเพ่นพ่านกลางถนน เรียกว่า สุนัขจรจัด แต่ถ้าสุนัขที่มีเจ้าของเลี้ยงดูอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะมีปลอกคอ คือ สายรัดรอบคอใช้สำหรับล่ามจูงให้จับง่ายและในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องหมายว่า สุนัขตัวนี้ไม่ใช่สุนัขกลางถนนหรือที่เรียกกันว่า “หมากลางถนน” แต่เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ดังนั้นสำนวน “หมามีปลอกคอ” จึงหมายถึงคนที่มีผู้ทรงอิทธิพลหรือผู้ทีอำนาจคอยคุ้มครองคอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่


ธรรมชาติอย่างหนึ่งของสุนัข คือ เมื่อสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเข้าจู่โจมคนสัตว์ชนิดอื่นหรือแม้แต่สุนัขด้วยกันแล้ว สุนัขตัวอื่น ๆ จะกรูกันเข้ามาร่วมเห่าร่วมกัดด้วยสำนวน “หมาหมู่” จึงหมายถึง กลุ่มคนที่กลุ้มรุมทำร้ายคนคนเดียว มักใช้ในกรณีของพวกนักเลงที่มีพรรคพวกมาก ร่วมกันรุมทำร้ายผู้มีกำลังน้อยกว่า พูดถึงหมาหมู่แล้วขอพูดถึงหมาที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวบ้าง ไทยเรามีสำนวน “หมาหัวเน่า” หมายถึงผู้ซึ่งเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น เข้ากับใครไม่ได้ ไม่มีใครครบหาด้วยส่วน “หมาหางด้วน” นั้นเป็นสำนวน หมายถึงผู้ที่ทำอะไรผิดพลาดจนได้รับความอับอาย แล้วพยายามชักชวนผู้อื่นให้เห็นว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีควรทำตาม เพื่อจะได้มีพวกที่ทำผิดอย่างเดียวกัน บ้านของคนไทยสมัยก่อนมักยกพื้นสูงจึงมีใต้ถุนบ้าน ถ้าเป็นบ้านของคนธรรมดาพื้นกระดานจะไม่ปูชิดกันจนสนิทจะมีร่องอยู่บ้างโดยเฉพาะพื้นครัว ซึ่งครัวมักจะอยู่มุมชานบ้านเมื่อทำอาหารอาจจะมีเศษอาหารหล่นลงร่องไปสุนัขมักจะมาหาอะไรกินแถว ๆ ใต้ถุนครัว บางครั้งสุนัขมากันหลายตัวแย่งเศษอาหารกันกัดกันส่งเสียงเห่าน่ารำคาญ คนทำครัวอยู่ก็รำคาญ จึงเอาน้ำร้อนเทราดลงไป สุนัขถูกน้ำร้อนราดก็วิ่งพล่านจึงเป็นสำนวน “หมาถูกน้ำร้อน” ใช้กับคนที่มีธุระร้อนต้องดิ้นรน เที่ยววิ่งพล่านไปทำธุระนั้น ๆ เรื่องของสุนัขกับน้ำร้อนยังมีคนท้องถิ่นนำไปเป็นสำนวนเปรียบอีกสำนวนหนึ่ง คือ “ทำงานเหมือนหมาเลียน้ำร้อน” เพราะปกติเวลาสุนัขกินน้ำจะใช้ลิ้นเลียและตวัดน้ำเข้าปากอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อน้ำนั้นร้อนสุนัขจะไม่ค่อยกล้า จะเลียบ้าง หยุดบ้างหรือหนีไปเลย สำนวนทำงานเหมือนสุนัขเสียน้ำร้อนจึงหมายถึงคนที่ทำงานไม่เรียบร้อยไว้ใจไม่ได้ รางเป็นภาชนะรูปยาวมีร่องตรงกลาง อาจจะนำไม้เป็นแผ่นยาวมาต่อกันหรือนำท่อนไม้มาขุดเป็นร่องยาวตรงกลางก็ได้ ชาวบ้านจะนำอาหารมาเทในรางเพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้เช่นหมูได้กิน สุนัขที่วิ่งไปกินอาหารรางนั้นทีรางนี้ทีจึงเรียกว่า “หมอสองราง” เป็นสำนวนที่หมายถึงผู้ที่ทำตัวเข้ากับทั้งสองฝ่ายบางครั้งใช้สำนวนว่า “ตีสองหน้า หมาสองราง” ปกติสุนัขเป็นสัตว์กินเนื้อ กินหญ้า แต่มีนิทานเล่าถึงสุนัขในรางหญ้าว่า แม้คนจะไม่กินหญ้า แต่เมื่อสัตว์กินหญ้า เช่น โคกระบือ จะเข้ามากินหญ้าสุนัขจะไม่ยอม เป็นสำนวน “หมาในรางหญ้า” หรือ “หมาหวงราง” หมายถึงผู้ซึ่งหวงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และไม่ยอมให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์คล้ายกับ “หมาหวงก้าง” แต่สำนวน “หมาหวงก้าง” มีนัยในทำนองกันท่าคนอื่นในสิ่งที่ตนได้ประโยชน์ไปแล้วหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว เหมือนสุนัขที่กินเนื้อปลาหมดไปแล้ว แต่ยังคอยระวังไม่ให้สัตว์อื่นมาแย่งก้างปลาไป จะรวมไว้หมดทั้งเนื้อปลาทั้งก้างปลาไม่ยอมให้ใคร ๆ มามีส่วนเกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น